การดูแลสุขภาพและสาธารณสุขในยุคปัจจุบันนั้น ความเกี่ยวข้องระหว่างศาสนากับสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย ดังเช่นศาสนาอิสลาม หากย้อนกลับไปพิจารณาวิถีของอิสลาม ซึ่งเป็นวิถีในการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และครอบคลุมทุกๆ ด้าน (The way of life) เรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยนั้น อิสลามได้พูดถึงอย่างละเอียดทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องนำมาปฏิบัติ
เราจะพบว่า วิถีชีวิตประจำวันของผู้นับถือศาสนาอิสลามดำเนินไปตามหลักคำสอนของอิสลามที่ครอบคลุมทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่หัวใจ และจิตใจของมนุษย์จนครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกรอบความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างสุขภาพกับศาสนพิธี หรือ “อิบาดะอ์” เช่น การละหมาด การถือศีลอด การอาบน้ำละหมาด การออกกำลังกาย โภชนาการ การพักผ่อน การป้องกัน การรักษา การปฏิบัติตามคำสอนของอิสลามจึงเป็นการปฏิบัติดีเกี่ยวกับสุขภาพไปพร้อมกันด้วย
คำสอนทั่วไปของอิสลามเกี่ยวกับสุขภาพที่มีการปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ด้านความสะอาด ชาวมุสลิมถือว่าความสะอาดทางจิตใจมีความสำคัญ หมายถึงการตั้งมั่นต่ออัลลอฮแต่เพียงผู้เดียว และยังรวมถึงการขัดเกลาจิตใจให้ปลอดจากความอิจฉาริษยา ส่วนความสะอาดของร่างกายนั้นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่า จะพบว่ามีกฎเกณฑ์กำหนดไว้มากมาย เช่น การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย การตัดเล็บ การแปรงฟัน การสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ฯลฯ
ด้านโภชนาการ เท่าที่พบหลักฐานโภชนาการตามแนวทางของอิสลามนั้น อาหารต้องครอบคลุมถึงอาหารทุกชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เน้นความสำคัญของ นม น้ำผึ้ง เนื้อ ผลไม้ และผักต่างๆ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดของอาหาร ไม่รับประทานอย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น
ด้านการออกกำลังกาย อิสลามถือว่าการมีร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดีเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮ การรักษาความแข็งแรงและสุขภาพร่างกายของชาวมุสลิมจึงถือเป็นการตระหนักต่อความโปรดปรานจากอัลลอฮ หรือเป็นการปฏิบัติทางศาสนาด้วยเช่นกัน
การป้องกันและบำบัดโรค ในหมู่ชาวมุสลิมให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อเรื่องความสะอาด การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ตลอดจนมีวิธีการในการควบคุมโรคติดต่อเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดด้วย
สำหรับ สุขภาพในศาสนพิธี ของอิสลามนั้น เป็นทั้งกฎเกณฑ์เพื่อฝึกควบคุมร่างกายและส่งเสริมสุขภาพจิตไปพร้อมๆ กัน ในการละหมาด มุสลิมทุกคนจะทำการละหมาดภาคบังคับวันละห้าเวลา ความสะอาดถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการละหมาดแต่ละครั้ง คือต้องสะอาดทั้งสถานที่ เสื้อผ้าที่ใช้ รวมทั้งต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดด้วยการอาบน้ำหรืออาบน้ำละหมาด ในการถือศีลอด ทุกๆ ปีมุสลิมจะถือศีลอดหนึ่งเดือน คือเดือนเราะมะฎอน
นอกจากนั้นอิสลามยังส่งเสริมให้มีการถือศีลอดในโอกาสต่างๆ รวมทั้งการถือศีลอดในวันจันทร์และพฤหัสบดี หรืออย่างน้อยที่สุดในแต่ละเดือนจะถือศีลอดไม่น้อยกว่าสามวัน ซึ่งเป็นการกระทำแบบสมัครใจ กล่าวได้ว่าการถือศีลอดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการสร้างสุขภาพ นั่นคือการสร้างระเบียบวินัยต่อร่างกายด้วยการฝึกความอดทนและการปรับตัว ในขณะที่การประกอบพิธีฮัจญ์นั้นจะกระทำไม่ได้เลยหากมีสุขภาพกายไม่ดี เพราะต้องใช้กำลังกายในการหมุน การเดินที่เป็นองค์ประกอบหรือเงื่อนไขของพิธีฮัจญ์
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติในศาสนพิธีของอิสลามก็มีข้อยกเว้นสำหรับมุสลิมที่เจ็บป่วยหรืออยู่ระหว่างการเดินทางด้วย ดังนั้นแล้วการปฏิบัติตัวเป็นมุสลิมที่ดีจึงสอดคล้องกับการสร้างเสริมสุขภาพอันเป็นวิถีของอิสลามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานับจากอดีตจนปัจจุบัน
เก็บความจาก
อิสมาแอ อาลี , อิสลามกับการสร้างพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะ. แหล่งที่มา : http://resource.thaihealth.or.th/library/10533
กิตติกร มีทรัพย์, การแพทย์อิสลาม, 2529.แแหล่งที่มา : http://beauty--infinity.blogspot.com/2014/11/blog-post_22.html
ขอบคุณภาพจาก
เว็บไซต์มุสลิมเชียงใหม่ แหล่งที่มา : http://muslimchiangmai.net/index.php?topic=3846.0
- 3651 views