หมอประกิตเรียกร้อง ครม. เร่งเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ลดจำนวนคนไทยที่จะตายจากโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่ลงด้วย เตือนผู้สูบบุหรี่ แม้ตรวจร่างกายสม่ำเสมอ ก็อาจไม่พบมะเร็งในระยะแรกได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคจะถูกตรวจพบเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว การรักษาส่วนใหญ่ต้องใช้ยาคีโม ซึ่งมีผลข้างเคียงสูงและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ เรียกร้องในวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ ให้ ครม. เร่งพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อลดจำนวนคนไทยที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกิดจาการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 50,683 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากมะเร็งปอด 11,730 คน และจากมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ 7,244 คน คิดเป็น 37.3% ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งหมด โดยรายงานล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2557 ระบุว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งทั้งหมด 12 ชนิด คือ มะเร็งช่องปากและลำคอ กล่องเสียง หลอดลมและปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ เม็ดเลือดขาว และมะเร็งปากมดลูก
ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด สารก่อมะเร็งเหล่านี้จะสัมผัสกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งที่สัมผัสโดยตรง ถูกพามาตามกระแสเลือด หรือถูกขับออกมาทางปัสสาวะ นานเข้าจึงเกิดเป็นมะเร็งขึ้น โดยสมาคมต่อต้านมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาประมาณการณ์ว่า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 2,120,000 คนในปี พ.ศ.2558 ในขณะที่มูลนิธิปอดแห่งโลก หรือ เวิล์ดลัง ฟาวเดชั่น ระบุว่า การที่ชายไทย 40% ยังสูบบุหรี่ถือว่าเป็นภาวะวิกฤตด้านสุขภาพที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า จึงเรียกร้องให้ ครม. เร่งเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... เพื่อให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้โดยเร็ว เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ซึ่งจะลดจำนวนคนไทยที่จะตายจากโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่ลงด้วย ในส่วนของผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ควรจะคิดว่า หากตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะรักษามะเร็งในระยะแรกได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคจะถูกตรวจพบเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว การรักษาส่วนใหญ่ต้องใช้ยาคีโม (ยาฆ่ามะเร็ง) ซึ่งมีผลข้างเคียงสูงและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทนผลข้างเคียงของยาไม่ไหว
- 3 views