หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) ปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน   

ตอนที่ 6 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ. หาสาเหตุขาดทุน

ตอนที่ 7 รพ.เกาะสมุยชี้ งบไม่พอ ปมปัญหาบัตรทอง เผยรพ.ไม่ขาดทุน เพราะมีรายรับจากกองทุนอื่น

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 8 รพ.อุ้มผางเสนอตั้ง กองทุนมนุษยธรรม ลดภาระ รพ.ชายแดน

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ 

“หมอวรวิทย์” เผย ปี 57 รพ. 5 อำเภอ จ.ตาก รับภาระรักษาผู้ไม่มีสิทธิระบบรักษาพยาบาล 117 ล้านบาท เฉพาะที่ รพ.อุ้มผาง 31 ล้านบาท หวั่นหลังเปิด AEC ทำผู้ป่วยตามแนวชายแดนไหลเข้ารับการรักษาเพิ่ม วอนรัฐบาล พร้อมเสนอตั้ง “กองทุนมนุษยธรรม” ช่วยลดภาระ รพ.หลังแบกรับ 10 ปี วิ่งหาเงินสนับสนุนรักษากลุ่มคนไม่มีสิทธิ์ฯ เหตุงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เอื้อ แถมรัฐไม่อุดหนุน พร้อมรอวัดฝีมือ “หมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์” หลังประกาศ 3 มาตรการแก้ไขปัญหา รพ.ชายแดน หลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวถึงปัญหา รพ.ขาดทุน ของกลุ่ม รพ.ตามแนวชายแดน ว่า พื้นที่ จ.ตากประกอบด้วย 5 อำเภอ มีประชากรประมาณ 7.3 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนคนไม่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพสุขภาพใดๆ มีทั้งคนไร้รัฐที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแต่ไม่มีบัตรประชาชน อย่างชาวเขา ชาวกระเหรี่ยง และคนพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยากจน ส่งผลให้ รพ.มีงบประมาณจากสิทธิรักษาพยาบาลเพียงครึ่งเดียว เป็นเหตุให้ รพ.ใน จ.ตาก มีปัญหางบดำเนินการขาดแคลน เพราะต้องรับผิดชอบดูแลประชากรทั้งหมดตามหลักมนุษยธรรม ประกอบกับพื้นที่ตามแนวชายแดนยังมีปัญหาการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นโรคมาลาเรีย ไข้รากสาดใหญ่ และวัณโรค เป็นต้อนที่ต้องควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย

“ปี 2557 ใน 5 อำเภอของ จ.ตาก มีผู้ป่วยวัณโรค 532 ราย ในจำนวน 332 ราย หรือกว่าร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ตรงนี้อยากถามว่า เราจะไม่รักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งนอกจากด้านมนุษยธรรมแล้ว ในด้านการควบคุมโรคหากไม่เร่งดำเนินการโรคจะแพร่กระจายออกไป จึงต้องให้การรักษาเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ซึ่งหากเป็นวัณโรคทั่วไป ค่ารักษาจะอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นวัณโรคดื้อยา ค่ารักษาจะขึ้นไปสูงถึงหลักแสนบาท ซึ่งในพื้นที่เราพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 15 ราย ในจำนวนนี้ 13 รายไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ตรงนี้เราจะทำอย่างไร ซึ่งนี่แค่ตั้งรับ หากออกค้นหาผู้ป่วยเชื่อว่าจะมีจำนวนมากกว่านี้” นพ.วรวิทย์ กล่าว และว่า อีกทั้งในกรณีที่มีหญิงปวดท้องคลอด คลอดลูกไม่ออก แต่เขาไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจะทำอย่างไร เราคงปล่อยให้ตายทั้งแม่ทั้งลูกไม่ได้ ต้องให้การรักษาเช่นกัน

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ข้างต้นของ รพ.ชายแดน จะเห็นได้ว่างานการแพทย์และสาธารณสุขจะใช้เงินเป็นตัวตั้งไม่ได้ ที่นี่ส่วนใหญ่คนไม่มีเงิน แต่เมื่อมาถึง รพ.แล้วเราต้องให้การรักษา ทำให้ที่ผ่านมา รพ.ต้องแบกรับภาระและหางบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เอง แค่งานรับรักษาพยาบาลก็เต็มกำลังอยู่แล้ว แต่ยังมีงานควบคุมโรคอีก ซึ่งปัญหานี้ รพ.อุ้มผางต้องเผชิญปัญหางบประมาณต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี แล้ว

อย่างไรก็ตามเรายังโชคดี เพราะ รพ.อุ้มผางเป็นพื้นที่ทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านทรงเมตตาเป็นพิเศษ และได้ตั้งสุขศาลาพร้อมพระราชทานงบดำเนินการเพื่อในการการรักษาผู้ป่วย ซึ่งปีที่ผ่านมาเราได้ขอไป 2.9 ล้านบาท นอกจากนี้ทาง รพ.ยังได้ขอบริจาคจากเอกชน โดย บ.ดัชมิลล์ จำกัด ได้ช่วยเหลือมาประมาณ 5-6 ล้านบาท และยังได้เปิดรับบริจาคยาจากทั่วประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมา รพ.ได้รับยาบริจาครวมมูลค่าประมาณ 2.2 ล้านบาท ซึ่งพอจะช่วยแบ่งเบา รพ.อุ้มผางได้

ส่วนมติ ครม.เมื่อปี 2553 ที่มีการให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่กลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะนั้น นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า จ.ตาก มีประชาชนที่ได้รับสิทธิดังกล่าวเพียงแค่ 40,000 คนเท่านั้น ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ อ.อุ้มผางประมาณ 5,000 คน ทำให้ จ.ตากยังคงมีคนที่ไม่มีสิทธิรักษาในพื้นที่ประมาณ 300,000 คนในปัจจุบัน ซึ่งคาดการณ์ว่า หากมีการเปิด AEC เมื่อไหร่ จะทำให้ปัญหาที่เผชิญอยู่หนักมากขึ้น เนื่องจากจะมีกลุ่มคนที่อยู่ในศูนย์อพยพต่างๆ ตามแนวชายแดนกว่าหมื่นคนจะเดินทางเข้ามา ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนยากจนและก็ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ นอกจากภาระงบปะมาณแล้ว ภาระงานรักษาพยาบาลก็จะเพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้ยังไม่มีการเปิด AEC ปัญหา รพ.ใน จ.ตาก ที่เผชิญอยู่ก็หนักอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่เปิด AEC เป็นทางการและมีการยุบศูนย์อพยพ ปัญหาก็จะหนักมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการในการรองรับปัญหานี้” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว 

ต่อข้อซักถามว่า ล่าสุดทาง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข และทีมรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ พร้อมวาง 3 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา มองอย่างไร นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า จ.ตาก ประสบปัญหานี้มานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ฉะนั้นที่ผ่านมาจึงมีผู้บริหารระดับสูงหลายคณะลงพื้นที่เพื่อดูปัญหา และรพ.ก็รับรองกันจนชินแล้ว ทำให้ไม่ค่อยตื่นเต้นที่มีผู้บริหารเดินทางมา ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นมาตรการใด ขอให้แก้ไขปัญหาให้กับ รพ.ให้ได้ และขอให้มีมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้าก่อน เพื่อให้ รพ.อยู่ได้ มีเงินมาจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่และค่ายาค้างจ่าย

ส่วนมาตรการแก้ไขระยะยาวนั้น ขอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนมนุษยธรรม” เพื่อหาเงินมาชดเชยค่ารักษาพยาบาลให้กับ รพ. ทำให้เราไม่ต้องวิ่งหาเงินขอรับบริจาค เพราะวันนี้ต้องบอกว่าการทำแบบนั้นมันเหนื่อยเกินไป เพราะต้องดูงานรักษาและวิ่งหาเงินมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา รพ.ใน 5 อำเภอ จ.ตาก รวมมีค่าใช้จ่ายดูแลกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิระบบรักษาพยาบาล 117 ล้านบาท เฉพาะที่ รพ.อุ้มผาง 31 ล้านบาทแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รูปแบบกองทุนมนุษยธรรมที่เสนอใหม่นี้ เป็นกองทุนเดียวกับ “กองทุนสุขภาพตามแนวชายแดน” ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอจัดตั้งใช่หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า เป็นคนละกองทุนและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากกองทุนสุขภาพตามแนวชายแดนมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งในงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับปัญหาที่ รพ.ใน 5 อำเภอของจังหวัดตากเผชิญอยู่ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษายัง รพ. ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และหากเมื่อไหร่เปิดเข้าสู่ AEC เชื่อว่าค่าใช้จ่ายดูแลกลุ่มคนไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลเหล่านี้จะสูงมากกว่า 117 ล้านบาท แน่นอน  

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า สปสช.จัดสรรงบประมาณตามรายหัวประชากรในแต่ละพื้นที่ ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์เข้ามาคำนวณ แต่บริบทของ รพ.ชายแดน อย่างที่อุ้มผางใช้วิธีคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนที่นี่อย่างที่กล่าวส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีสิทธิในระบบหลักประกัน แต่ รพ.ต้องดูแลเพราะเป็นเรื่องมนุษยธรรม จึงอยากให้ทบทวนเพื่อให้ รพ.มีงบดำเนินการอยู่ได้ ไม่ใช่ให้ต้องวิ่งหาเงินเอง และเรื่องนี้ระดับผู้บริหารต้องชี้แจงกับสำนักงบประมาณให้เข้าใจบริบาทของพื้นที่และปัญหา ไม่ใช่ให้ตนมาพูดผ่านสื่อ และรัฐบาลควรมีงบมาสนับสนุน รพ.ในส่วนนี้

“ในสมัยที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการ สปสช. ท่านลงพื้นที่อุ้มผาง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ผมเป็นคนขับรถปิคอัพให้ท่านนั่งเอง ซึ่งอาจารย์สงวนบอกผมว่า ขอเวลา 3 ปี เพื่อทำระบบให้เกิดความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรม คือใครขาดมากได้มาก ใครขาดน้อยได้น้อย ซึ่งผมอยากให้มีการต่อยอดแนวคิดนี้ ไม่ใช่ใช้ตัวเลขทางคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว และว่า ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ทั้ง ศ.นพ.รัชตะ, นพ.สมศักดิ์ ต่างมีแนวคิดและจิตใจที่ดีเช่นเดียวกับ นพ.สงวน อาจช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้

สำหรับในส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สธ.ได้ส่งเงินมาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ค้าง 30 ล้านบาท ทำให้ รพ.ปัจจุบันมีหนี้อยู่ที่ 15 ล้านบาท จากเดิมที่มีกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งงบก้อนนี้ไม่ใช่งบกองทุนรักษาพยาบาลคนไร้สถานะ แต่นำมาจากงบประมาณที่เหลือจากการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใน สธ. และนำมาเกลี่ยช่วยเหลือ รพ. ซึ่งตนไม่รู้ว่าจะมีงบประมาณเหลือแบบนี้ทุกปีหรือไม่ ซึ่งในหลักการควรมีระบบเพื่อดูแล

นพ.วรวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมามีผู้บริหารมาเยี่ยมพื้นที่กันเยอะมาก ซึ่งการลงพื้นที่ของ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ คงต้องเห็นผลที่ออกมาเป็นรูปธรรมก่อน สิ่งที่เขียนแค่ในกระดาษที่ยังไม่ออกมาในทางปฎิบัติ ผมยังไม่เชื่อ แต่ทั้งนี้ อาจารย์ทั้ง 2 ท่านต่างเป็นคนดี แต่จะทำได้หรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องรอ และเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ความมุ่งมั่นของ อาจารย์ผมเชื่อมั่นว่าจะทำได้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน

ตอนที่ 6 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ. หาสาเหตุขาดทุน

ตอนที่ 7 รพ.เกาะสมุยชี้ งบไม่พอ ปมปัญหาบัตรทอง เผยรพ.ไม่ขาดทุน เพราะมีรายรับจากกองทุนอื่น