นสพ.คมชัดลึก : ผู้ตรวจราชการแฉ นายหน้าระนองขนพม่าสวมสิทธิ์เป็นแรงงานถูกกฎหมาย หวังรักษาประกันสังคมฟรี เรียกหัวละ 5,000 สธ.รับตัวเลขผิดปกติจริง
เจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติที่มีขบวนการค้าแรงงานนำชาวต่างด้าวเข้ามาสวมสิทธิ์แรงงานเพื่อสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม นางอรวรรณ ขุมทรัพย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.ระนอง ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายสิปนนท์ กรสัจจา กรรมการธรรมาภิบาล จ.ระนอง ว่า พบมีกลุ่มนายหน้าที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าแรงงานพม่า นำชาวบ้านพม่า จาก จ.มะริด และ จ.ทวาย ซึ่งไม่ได้ทำงานใน จ.ระนอง เข้ามาสวมสิทธิ์นายจ้าง เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ว่าเป็นแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย จากนั้นได้นำเข้าสู่กระบวนการหลักประกันสุขภาพ เพื่อใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีฝั่งไทย โดยมีการคิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายละ 5,000 บาท และกำลังเป็นที่นิยมของชาวพม่าเป็นอย่างมาก เพราะความแตกต่างด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลของสองประเทศ
"อีกทั้งเมื่อเสียค่าใช้จ่ายให้นายหน้า 5,000 บาท และซื้อบัตรประกันสุขภาพ 2,900 บาท ก็มีสิทธิรักษาฟรีในสถานพยาบาลใน จ.ระนอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จะนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการเข้ามาคลอดบุตรฝั่งไทยจะมีค่าใช้จ่ายแพง ส่วนฝั่งพม่าจะไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากการแพทย์ล้าสมัยเสี่ยงบุตรเสียชีวิตสูง ขณะนี้ได้รับรายงานว่ากลุ่มนายหน้าได้ส่งตัวแทนที่เป็นเครือข่ายเข้าไปดำเนินการในเขต อ.กระบุรี จ.ระนอง อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งได้เตรียมนำเรื่องดังกล่าวประสานผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง" นางอรวรรณ กล่าว
นายสมชาย วัชระสุขโพธิ์ กรรมการพัฒนาโรงพยาบาลระนอง กล่าวว่า โรงพยาบาลระนองเคยพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวแล้วหลายครั้ง โดยตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของชาวพม่าที่เข้ามาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลระนองมากผิดปกติ และพบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าที่เดินทางเข้ามา ไม่ได้ทำงานใน จ.ระนอง ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการสวมสิทธิ์นายจ้างอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่นั้น ทางโรงพยาบาลไม่ได้ตรวจสอบ เพราะข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่และบุคลากร อย่างไรก็ตามหากมีการตรวจสอบก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะขณะนี้ชาวบ้านฝั่งไทย โดนเบียดบังสิทธิการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะการที่ต้องไปต่อคิวจากชาวพม่าจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการ ทำให้หลายคนต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงแทน
ด้านนายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานเครือข่ายภาคประชาสังคม จ.ระนอง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นปัญหาการนำชาวพม่าจาก จ.มะริด จ.ทวาย และ จ.เกาะสอง ที่ไม่ได้ทำงานใน จ.ระนอง เข้ามาสวมสิทธิ์นายจ้าง ซึ่งมีคนในพื้นที่ร่วมรู้เห็นโดยคิดค่าใช้จ่ายรายละ 5,000 บาทพบว่ามีมูลความจริง พื้นที่ที่กำลังเป็นปัญหาคือ อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบเพราะถือว่าผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่องบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนการบริการสาธารณสุขจากภาครัฐที่ให้มาเฉพาะผู้ที่อาศัยหรือทำงานในประเทศไทย แต่กลับถูกบดบังจากผู้ที่อยู่นอกประเทศ
"การที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ถือว่าถูกต้องเพราะสร้างรายได้ให้แก่นายจ้าง จากนั้นนายจ้างก็นำเงินไปจ่ายภาษีหมุนเวียนมาเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ แต่บุคคลที่อยู่นอกประเทศกลับมาแอบใช้สิทธิดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้อง" นายนิตย์กล่าว และว่า จากที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง ได้สรุปตัวเลขขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ทั้งรอบแรกและรอบสองที่ทาง คสช.เปิดให้นำแรงงานต่างด้านผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียน มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าอยู่ในพื้นที่มากถึง 70,381 คน ซึ่งเกือบเทียบเท่าประชากรของ จ.ระนอง ที่มีตัวเลขตามทะเบียนบ้าน 1.8 แสนคน แต่สภาพความเป็นจริงประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จริงประมาณ 9 หมื่นคน ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ การเบียดบังบริการสาธารณะ ปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือทางจังหวัดต้องมีระบบควบคุมมากกว่าปัจจุบันไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก
ขณะที่ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง และผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวถึงกรณีที่พบความผิดปกติใน จ.ระนอง ว่า หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่จะให้บริการตามสิทธิ์ กล่าวคือ ในการขายบัตรประกันสุขภาพหากมีใบรับรองจากนายจ้างว่าเป็นแรงงานจริงก็มีหน้าที่ในการตรวจสุขภาพและขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้ในรูปแบบที่แรงงานต้องการ อาจจะเป็นแบบคุ้มครอง 1 ปี หรือ 6 เดือน หรือ 3 เดือน และการเข้ามาใช้บริการหากผู้ป่วยแสดงบัตรประกันสุขภาพก็ต้องให้บริการตรวจรักษาพยาบาลตามสิทธิ์
"ลักษณะการอ้างสิทธิ์เป็นแรงงานต่างด้าวแล้วเข้ามาซื้อบัตรประกันสุขภาพทั้งที่ไม่ใช่แรงงานจริง แต่เป็นชาวบ้านจากประเทศเพื่อนบ้านข้ามมาใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลนั้น มีรายงานรูปแบบนี้เฉพาะที่ จ.ระนอง ซึ่งที่ผ่านมานายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ระนองได้รายงานสถานการณ์การเข้ามารับบริการจำนวนมากผิดปกติของแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ ให้คณะกรรมการแรงงานต่างด้าวทราบเรื่องแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข ส่วนในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนอื่นๆ ไม่มีรายงานลักษณะนี้ แต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาทิ พื้นที่ภาคเหนือจะเป็นรูปแบบของชนเผ่า หรือผู้ที่รอพิสูจน์สถานะ เป็นต้น ไม่ได้เป็นรูปแบบเดินข้ามไปมาเพื่อรักษาพยาบาล" นพ.บัญชา กล่าว
มีรายงานแจ้งว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง ได้ออกใบอนุญาตทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551 ให้แก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา จำนวน 70,381 คน และสัญชาติอื่น 354 คน รวมทั้งสิ้น 70,735 คน โดยมีนายจ้าง สถานประกอบการในจังหวัดได้จ้างแรงงานต่างด้าว 7,254 ราย แบ่งเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 51,340 คน แรงงานต่างด้าวนำเข้าตามบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน หรือเอ็มโอยู จำนวน 14 คน และแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 กลุ่มทะเล จำนวน 24 คน แรงงานต่างด้าวตามมติประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส จำนวน 22,900 คน จำแนกเป็นผู้ใช้แรงงาน 19,003 คน ผู้ติดตามจำนวน 3,897 คน และแรงงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย สัญชาติอื่นอีก 354 คน
อนึ่ง การขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สัญชาติ ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ที่อยู่ในประเทศไทยจะมีราคา 2,100 บาท แบ่งเป็น ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 1,600 บาท มีอายุการคุ้มครอง 1 ปี กลุ่มเด็ก ที่อายุไม่เกิน 7 ปี บัตรราคา 365 บาท มีอายุคุ้มครอง 1 ปี ส่วนกรณีได้รับอนุญาตอยู่ในประเทศ ไทยเป็นการชั่วคราว อัตราค่าบริการ 1,000 บาท แบ่งเป็น ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 500 บาท มีอายุการคุ้มครอง 3 เดือน และราคา 1,400 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 900 บาท มีอายุการคุ้มครอง 6 เดือน โดยหลักฐานประกอบการตรวจสุขภาพและการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะต้องนำเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดของทางราชการมาแสดงด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558
- 112 views