เดอะ การ์เดียน : ผลการสำรวจจากการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ชี้ชัด ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความเข้าใจว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ (Demographic Change) นโยบายทางการเมืองก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลผสมและพรรคแรงงานควรดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด

กลุ่มตัวอย่างในการสัมภาษณ์กลุ่มย่อยมีความกังวลอย่างมากต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อรับมือกับประชากรสูงอายุ  ภาพประกอบโดย Alamy

กลุ่มผู้สูงอายุ คือประชากรที่รัฐบาลของนายโทนี แอบบอตต์ระบุว่าเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในหลายด้าน ทั้งการปรับลดรายจ่ายด้านสุขภาพ และการปฏิรูประบบภาษีอากร แต่ผลสำรวจจากการสัมภาษณ์กลุ่มย่อยที่จัดขึ้นทั่วประเทศออสเตรเลียโดยทีมงาน The Ipsos Mind and Mood survey ได้ชี้ชัดว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างเข้าใจดีว่าการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักการเมืองที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด   

จากการสำรวจที่ใช้ชื่อว่า "ประชากรผู้สูงอายุของเรา" พบว่า ชาวออสเตรเลียต่างมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ และกลัวว่ารัฐบาลจะไม่สามารถหามาตรการที่เหมาะสมมาใช้ได้

“ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น นโยบายด้านที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการสาธารณสุข แต่การที่ประชาชนมองว่ารัฐบาลไม่ได้นำเสนอนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้เลย ได้ส่งผลให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตนเองยิ่งเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรครั้งสำคัญเช่นนี้” ข้อสรุปจากการสำรวจดังกล่าวระบุ

เมื่อไม่นานมานี้ นายโจ ฮอคกีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลีย ได้หยิบยกความเป็นไปได้ที่ว่ามนุษย์อาจจะมีอายุขัยยืนยาวได้ถึง 150 ปีขึ้นมากล่าวอ้าง นับเป็นการสื่อสารแบบลุ่มลึกไปยังชาวออสเตรเลียหลังจากที่รัฐบาลเผยแพร่ Intergenerational Report ซึ่งระบุว่าอายุขัยของประชากรเป็นสาเหตุให้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องตัดลดรายจ่ายด้านสุขภาพลง

"แนวคิดที่จะตัดลดรายจ่ายด้านสุขภาพลงเพื่อนำไปดูแลกลุ่มประชากรผู้สูงอายุได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน   เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าระบบสุขภาพในปัจจุบันก็ดำเนินงานภายใต้แรงกดดันมหาศาลอยู่แล้ว และพวกเขาก็มองไม่เห็นว่าจะสามารถตัดลดรายจ่ายในส่วนไหนได้อีก โดยเฉพาะคนในเขตภูมิภาคซึ่งรู้สึกว่าตัวเองได้รับบริการที่ไม่เพียงพออยู่แล้ว" โดโรธี ดัดลีย์ ผู้อำนวยการ The Mind and Mood กล่าว

และในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนหนึ่งเตรียมที่จะยอมรับนโยบายของรัฐบาล ที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินสมทบ 7 ดอลล่าห์ในระบบประกันสุขภาพเมดิแคร์ (นโยบายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงที่ทำการสำรวจ) พวกเขาต่างก็ระแวงว่านโยบายนี้อาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นเหมือนอย่าง" ระบบสไตล์อเมริกัน" ซึ่งกลายเป็นระบบสาธารณสุขที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนจะจ่ายไหว

ในรายงานผลการสำรวจฉบับนี้ ได้รวบรวมคำพูดจากการสัมภาษณ์กลุ่มย่อยโดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ อาทิ

“โดยส่วนตัวแล้ว ฉันไม่คิดว่ามีปัญหาอะไรกับการที่จะต้องจ่ายเงินสมทบ 7 ดอลล่าร์  และฉันก็ยินดีที่เห็นภาษีของตัวเองถูกใช้เพื่ออุดหนุนระบบสาธารณสุข ถึงแม้ว่าตัวฉันเองจะไม่ได้เจ็บป่วยเลยก็ตาม ฉันว่ามันดีกว่าเอาเงินไปใช้กับเรื่องอื่นๆอย่างแน่นอน”

“ประเทศของเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก ถ้าระบบขาดงบประมาณ ก็ควรจะขึ้นภาษีคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ไม่ใช่ไปขูดรีดเงินบำนาญของประชาชนด้วยการให้ร่วมจ่ายเงินสมทบ”

"ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การไปพบแพทย์ แต่มันคือเรื่องของพยาธิสภาพของโรคและการได้รับยารักษา ถ้ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจริง คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ แต่กับคนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ถ้าเราไปตัดโอกาสที่คนเหล่านี้จะได้เข้าพบแพทย์ อาการป่วยของเขาก็จะยิ่งเรื้อรังและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิม"

“พวกเขาไม่หยุดอยู่ที่ 7 ดอลล่าห์หรอก เชื่อเถอะมันจะต้องเพิ่มขึ้น แล้ววันหนึ่งเราก็จะเป็นเหมือนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะมีเลือดไหลออกจากหัวของคุณ แต่พวกเขาก็ยังปฏิเสธที่จะมาดูอาการให้ นั่นคือหนทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป และเรายังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากพอ”

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสำรวจยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนที่รัฐบาลจะขยายอายุของผู้ที่มีสิทธิได้รับบำนาญไปเป็นอายุ 70 ปีโดยจะเริ่มใช้กับผู้ที่เกิดหลังปีค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) เป็นต้นไป ในเรื่องนี้หลายฝ่ายกังวลว่าผู้สูงอายุที่ถูกเลื่อนเวลาเกษียณอาจจะทำงานต่อไปไม่ไหว

จากรายงานชิ้นนี้ระบุว่า “แผนงานของรัฐบาลผสมที่จะเพิ่มอายุของการมีสิทธิได้รับบำนาญไปเป็น 70 ปีในปี ค.ศ.2035 (พ.ศ.2578) ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิกยกมาอภิปรายกันอย่างมาก จริงๆ แล้วอายุที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญนั้นมีความสัมพันธ์กับอายุที่จะเกษียนจากการทำงานอย่างมาก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนขึ้นแม้ว่าออสเตรเลียจะไม่เคยมีการกำหนดอายุที่จะเกษียณจากการทำงานอย่างเป็นทางการมาก่อนก็ตาม”

ทั้งนี้ ได้มีการบันทึกข้อคิดเห็นจากผู้ตอบแบบสำรวจในประเด็นดังกล่าว เช่น “เรารู้สึกโกรธมากๆ กับการเลื่อนการเกษียณอายุ”

“เป้าหมายที่หวังไว้ถูกขยับหนีออกไปเรื่อยๆ”

“การยืดอายุเกษียณออกไปมันเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด มันแย่มากเหมือนกับเรามาถึงที่จุดที่เราไปต่อไม่ไหวแล้วแต่ก็ยังหยุดไม่ได้ และยังต้องทำงานต่อไปอีก 5 ปี”  

“การกำหนดอายุเกษียณควรจะขึ้นอยู่กับอาชีพที่ทำ”

“โทนี (แอบบอท) ควรต้องมาที่นี่ (เมืองหนึ่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์) แล้วมาดูว่าการที่จะต้องเก็บแอปเปิ้ลเป็นตันๆ ทุกวันมันเป็นยังไง และหลังเลิกงานข้อต่อต่างๆ ในร่างกายของเรามันรู้สึกอย่างไร ลองมาทำดูถ้ามั่นใจว่าทำได้จนถึงอายุ 70 ปี”

“การให้เกษียณที่อายุ 70 ปี จะสร้างปัญหาขึ้นแน่ เพราะไม่ทุกคนหรอกที่สามารถทำงานถึงอายุขนาดนั้นได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้กำลังและความยืดหยุ่นของร่างกาย เช่น ช่างปูนหรือช่างก่อสร้าง ร่างกายของคุณทนไม่ไหวหรอก ทำได้จนถึงอายุ 65 ปีก็ถือว่าโชคดีแล้ว"

ในขณะนี้  รัฐบาลได้ตัดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงออกจากการยืดอายุเกษียณ แต่จะใส่ประเด็นการหยุดเก็บภาษีบำนาญลงไปในการทบทวนระบบภาษีอย่างถึงรากถึงโคน ซึ่งจากรายงานยังระบุด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า การกำหนดอายุเกษียนจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจากหลายพื้นที่ยังชี้นิ้วไปที่รัฐบาลว่าไม่อาจมองเห็นปัญหาตรงหน้าได้อย่างที่ประชาชนเล็งเห็น

“รัฐบาลจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่ควรมองโลกในมุมแคบๆ หรือมุ่งเน้นเพียงแค่จุดใดจุดหนึ่ง พวกเขาต้องคิดบ้างว่า ถ้าเป็นแม่หรือพ่อของฉันล่ะ..พวกเขาจะต้องการอะไร?  

“ทุกวันนี้มีอะไรบ้างที่บ่งชี้ว่า ผู้นำของเราได้นำเสนอนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือทำให้เรามั่นใจว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ? ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับทุกๆ เรื่องเลยจริงๆ นะแล้วคุณว่าไง?”

“พรรคแรงงานกับพรรคเสรีนิยมเคยมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ตอนนี้พวกเขากลับเหมือนกันซะแล้ว ฉันรู้สึกเหยียดหยามทุกอย่างในสังคมของเรา ทุกสิ่งขับเคลื่อนจากตัวเลขล่างสุดในบัญชีว่ากำไรหรือขาดทุน ในขณะที่การกระทำด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่เพื่อเงิน หาได้ยากเต็มที”