เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์แบบตะวันตกได้เข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ กับการมาของนักสอนศาสนาคริสต์ในยุคของการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก มีบันทึกข้อมูลกล่าวว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2367-2394) มีนักสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เข้ามาในประเทศไทยหลายคน เป็นทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ เช่น แพทย์ชาวเยอรมนีคนหนึ่งชื่อ กุตซ์ลัฟฟ์ (Rev.Carl Augustus Gutzlaff) และชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ทอมลิน (Rev.Jacob Tomlin) เพียงแต่สิ่งที่คนเหล่านี้ทำนอกจากการสอนศาสนา คือการแจกหนังสือภาษาจีนและแจกยา เท่านั้น แต่ผู้ที่นำการแพทย์แผนปัจจุบันและวิทยาศาสตร์ เข้ามาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกันดีมี 2 คน คนแรกเป็นแพทย์คือ ดร.บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามาในปี พ.ศ. 2377 อีกคนเป็นทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์คือ ดร.เฮาส์ (Reynolds Samuel House)
จากข้อมูลที่บันทึกไว้ นับได้ว่า “หมอบรัดเลย์” เป็นบุคคลสำคัญที่ได้นำการแพทย์แผนปัจจุบันมาสู่ประเทศไทย เขาเป็นคนแรกที่ทำการถ่ายเลือดเพื่อแก้ไขผู้ป่วยที่เสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ตั้งร้านจำหน่ายยาและเป็นต้นกำเนิดความคิดของการทำคลินิกแห่งแรกในไทย อีกทั้งยังเป็นผู้นำวิธีป้องกันโรคฝีดาษที่ระบาดในสมัยนั้นด้วย
การแพทย์แผนปัจจุบันเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ ทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “โรงศิริราชพยาบาล” เป็นที่พักถาวรสำหรับราษฎรที่เกิดการป่วยไข้ขึ้น ซึ่งเปิดทำการในปีพ.ศ. 2431 โรงศิริราชพยาบาล ครั้งเมื่อแรกสร้างเป็นเรือนไม้ที่สร้างขึ้นโดยใช้วัสดุจากเมรุที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงมาก่อสร้าง โดยเจตนารมณ์ไว้ใช้สำหรับการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่ารักษาและค่ายาจากคนไข้
โรงศิริราชพยาบาล
ต่อมาเนื่องจากการขาดแคลนแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นใหม่ จึงเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2432 มีการสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันขึ้นในโรงศิริราชพยาบาล โดยมีนายแพทย์จากคณะมิชชันนารีเป็นอาจารย์สอน และในเวลาต่อมาก็มีการสร้างโรงเรียนแพทย์ขึ้น ได้รับพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย" เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2443
โรงเรียนราชแพทยาลัย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับตั้งแต่โรงเรียนแพทย์ได้ถือกำเนิดขึ้น องค์ความรู้การแพทย์แผนปัจจุบันมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการขยายหลักสูตรการเรียนแพทย์จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี และกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2450 จึงเกิดการรวมวิชาแพทย์ไทยกับฝรั่งเข้าเป็นอันเดียวกัน เลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณคงให้มีแต่วิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน ในเวลาต่อมาได้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงศิริราชพยาบาล ตั้งเป็นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลขยายหลักสูตรการเรียนออกไปเป็น 6 ปี
ตลอดจนความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ เรื่อยมา นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2466 ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการแพทย์แผนปัจจุบันออกไปกว้างขวางมากขึ้น ทั้งการตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2512 เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัย มีคณะแพทยศาสตร์ 2 คณะคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างโรงพยาบาลเฉพาะเพิ่มเติมขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคทรวงอก โรงพยาบาลโรคเรื้อน และสถานสงเคราะห์ผู้อนาถา เป็นต้น
การแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก เมื่อได้มีการย้ายกรมสาธารณสุข ซึ่งแต่เดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยมาตั้งเป็นกระทรวงสาธารณสุข รวมการศึกษาด้านการแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และสัตวแพทย์ เป็นกรมมหาวิทยาลัย พร้อมกับการกระจายกิจการแพทย์แผนปัจจุบันไปสู่หัวเมืองและชนบท ทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีโรงพยาบาลประจำจังหวัด และมีโรงพยาบาลขนาดเล็กประจำอำเภอเกือบครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม การขยายกิจการแพทย์ออกไปมากขึ้น ยังทำให้ความต้องการแพทย์มีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทางการจึงได้สร้างโรงเรียนแพทย์ ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ทั้งยังได้ขยายกิจการการแพทย์ของกองทัพเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลายแห่ง
เก็บความและภาพจาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แหล่งที่มา : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=1&page=t8-1-infodetail06.html
- 11142 views