สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับโรงพยาบาล และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง หนุนแนวทางการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอด เพื่อให้คนพิการทางสายตาสามารถเข้าถึงบริการฝึกไม้เท้าขาว สร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติ
22 ธ.ค.57 ที่ จ. สระบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางสายตา ด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation & Mobility) หรือ O&M ประจำปี 2558 โดย นายธวัช เหลี่ยมสมบัติ หัวหน้ากลุ่มงาน สปสช.เขต 4 สระบุรี ชี้แจงแนวทาง มีหน่วยบริการที่มีบุคลากรความพร้อม 15 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และนครนายก พร้อมทั้งมูลนิธิ และสถานศึกษาพิเศษ เข้าร่วมดำเนินการในครั้งนี้
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า ผลสำรวจความพิการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่าประเทศไทยมีประชากรที่มีความพิการ จำนวน 1.9 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีประชากรที่จัดเป็นผู้พิการทางการมองเห็นจำนวน 746,549 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของประชากร ซึ่งมีทั้งคนที่จัดเป็นคนตาบอดและคนสายตาเลือนรางจำนวนมาก ซึ่งต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ด้วยตนเอง สามารถเรียนหนังสือได้ ทำงานได้ และพึ่งตนเองได้ ทำประโยชน์แก่สังคม
สำหรับในพื้นที่เขต 4 สระบุรี มีจำนวนประชากรที่มีความพิการด้านการเคลื่อนไหวมากที่สุดถึง 40,898 คน และความพิการด้านการมองเห็น จำนวน 8,191 คน ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้ สปสช.จึงร่วมกับหน่วยบริการและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอดด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว โดยในพื้นที่ 8 จังหวัดมีศูนย์ฟื้นฟูฯจำนวน 15 แห่ง ได้แก่ จ.นนทบุรี ศูนย์สิริธรฯ รพ.ชลประทาน, จ.ปทุมธานี คลินิกมิตรไมตรี , จ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.วังน้อย รพ.ลาดบัวหลวง, จ.อ่างทอง รพ.อ่างทอง, จ.สิงห์บุรี รพ.อินทร์บุรี รพ.ค่ายบางระจัน, จ.ลพบุรี รพ.ลำสนธิ, จ.สระบุรี รพ.พระพุทธบาท รพ.บ้านหมอ รพ.หนองแซง รพ.หนองโดน และ จ.นครนายก รพ.นครนายก
ทั้งนี้ญาติคนพิการทางสายตา หรือคนตาบอดสามารถติดต่อเพื่อขอรับการฝึกอบรมไม้เท้าขาว โดยลงทะเบียนกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสอนคนตาบอด มูลนิธิ โรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ที่มีความพิการทางการมองเห็น ได้รับบริการตรวจสุขภาพตาและประเมินความสามารถในการมองเห็น และเข้าสู่การฟื้นฟูฯ อย่างเป็นระบบ ได้รับการฝึกอบรมไม้เท้าขาวและอุปกรณ์ไม้เท้าขาว ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถใช้ชีวิตประจำวัน และช่วยเหลือตนเองได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช.1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 5 views