นสพ.ไทยโพสต์ : ในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อเป็นการรณรงค์ถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามที่เป็นบุคคลในครอบครัวที่ทำงานย้ายถิ่นทั่วโลก ซึ่งควรได้รับความคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
โดยในช่วงปี 2557 ประเทศไทยเราได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่มีผลกระทบต่อสังคมไทยพอสมควร ซึ่งสถานการณ์เด่นเรื่องแรงงานข้ามชาติในรอบปี 2557 มีดังนี้ 1.คณะรัฐมนตรีรักษาการ (อดีต ครม.) ได้มีมติผ่อนผันให้แรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติทำงานครบ 4 ปี อยู่อาศัยได้ชั่วคราวเพื่อขอขยายเวลาต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน
2.รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งศูนย์ One Stop Service จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ 3. เกิดปรากฏการณ์แรงงานกัมพูชากลับประเทศมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 4.ประเทศไทยถูกลดระดับความพยายามตอบสนองต่อการค้ามนุษย์ลง ไปอยู่กลุ่มที่ 3 หรือเทียร์ 3 (Tier 3) 5.ตึกที่กำลังก่อสร้างที่รังสิตถล่มทับแรงงานที่มีแรงงานข้าม ชาติทำงานด้วย
ซึ่งกล่าวสรุปสถานการณ์เด่นทั้ง 5 ประเด็นว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติในหลายด้าน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ One Stop Service เกิดจากปรากฏการณ์การเดินทางกลับของแรงงานข้ามชาติกัมพูชา และยังส่งผลกระทบต่อชุมชนชายแดน รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ต้องขาดแคลนแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ประเทศไทยถูกลดระดับลงไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ในภาคประมงทะเล และการค้ามนุษย์ในกลุ่มโรฮิงญา ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรหาแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีประเด็นที่น่าสนใจจากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กรณีผู้เสียหายจากกระบวนการค้ามนุษย์ในเรือประมง ถึงกระบวนการสอบคัดแยกที่จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะงาน สภาพการทำงาน นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่สำคัญในประเด็นดังกล่าวต่อรัฐบาลไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สถานประกอบการ และอุตสาหกรรมประมงไทย และนอกน่านน้ำไทย ดังนี้ คือ
1.ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน 2.พิจารณาออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายให้มีโทษหนักขึ้น ทั้งอาญาและทางแพ่ง 3.พิจารณาอย่างเร่งด่วนใน การให้แก้ไขกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 10 ว่าด้วยการใช้แรงงานในเรือประมงและเรือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ผู้ประกอบการหรือนาย จ้างต้องทำหนังสือสัญญาว่าจ้างที่ชัดเจน โดยระบุการทำงาน อัตราค่าจ้าง ระยะเวลาจ้าง รวมถึงระเบียบ รายละเอียดการทำงานต่างๆ ที่ว่าจ้างต่อผู้ที่ถูกจ้าง และผู้ว่าจ้างกับผู้ถูกจ้างต้องรับรู้ชื่อ สกุล ที่อยู่ และผู้ถูกจ้างต้องรู้ชื่อ สกุล ที่อยู่ ชื่อบริษัทของผู้ว่าจ้างที่ถูกต้อง โดยมีหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมารับรอง
4.ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องมีสวัสดิการ และอุปกรณ์ความปลอดภัยให้กับผู้ถูกจ้างทุกคน 5.ผู้ประกอบการต้องทำการว่าจ้างอย่างถูกกฎหมายโดยไม่มีค่าหัวหรือค่าจัดหา และมีเวลาทำงานอย่างชัดเจน
6.ต้องเร่งพิจารณาออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการที่จะนำรัฐบาลต้องออกกฎหมาย บังคับผู้ประกอบการประมงที่จะนำบุคคลออกจากนอกราชอาณาจักรไทยทุกคน ต้องมีหน่วยงานของรัฐสัมภาษณ์ถึงความยินยอมที่จะไปทำงานนั้นๆ หรือไม่ ก่อนให้ออกจากราชอาณาจักรไทยโดยหน่วยงานรัฐรับรอง
7.ต้องเร่งพิจารณาตั้งหน่วยงานเฉพาะพิเศษที่ช่วยเหลือแรงงานที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย โดยที่ญาติและผู้ออกนอกราชอาณาจักรสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้โดยตรง 8.การช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพสำหรับ "คนตกเรือ" และส่วนหนึ่งเป็น "ผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์" ต้องจัดให้มีระบบการจัดการที่ดี มีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาคนสองกลุ่ม โดยเน้นผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง
9.กรณีการดำเนินการช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความ ต้องมีการบูรณาการร่วมทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ 10.พิจารณาทบทวน "กองทุนค้ามนุษย์" ใหม่ ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่ากังวลอีกประเด็นคือ เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ จากกรณีตัวอย่างของแรงงานข้ามชาติที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติงานในอาคารก่อสร้างคอนโดมิเนียม 6 ชั้นถล่มที่จังหวัดปทุมธานี มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 6 ราย และเหตุการณ์การทรุดตัวของปล่องลิฟต์ระหว่างก่อสร้างที่อาคารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6 ราย
ซึ่งแรงงานข้ามชาติทั้งหมดควรได้รับสิทธิในการดูแลอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงตามกฎหมายประกันสังคม ทั้งนี้ ประเด่นเหล่านี้ถือเป็น 5 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2557 ของแรงงานข้ามชาติ แต่ยังมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจและน่าติดตามในเรื่องการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม
อาทิ ประเด็นเรื่องการศึกษาของเด็กต่างชาติ ประเด็นเรื่องการเข้าถึงนโยบายสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ประเด็นสถานการณ์ผู้อพยพลักลอบหนีเข้าเมืองพม่า โรฮิงญา บังกลาเทศ และประเด็นเรื่องสิทธิและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม.
ผู้เขียน : อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 ธันวาคม 2557
- 89 views