สปสช.แจงประชาคมสธ.เข้าใจผิด ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ยัน สิงห์บุรี นครนายก ได้รับงบรักษาประชาชนบัตรทอง เมื่อหักเงินเดือนแล้วอยู่ที่ 1,384 บาทต่อคน และ 1,257 บาทต่อคน ไม่ใช่ 100-300 บาทตามที่ประชาคมให้ข้อมูล เผย 2 จังหวัดนี้เป็นพื้นที่พิเศษ ประชากรน้อย แต่มีบุคลากรทางการแพทย์มาก ทำให้สัดส่วนบุคลากรการแพทย์ต่อประชากรสูงกว่าพื้นที่อื่น ชี้เป็นปัญหาเรื่องการกระจายบุคลากรการแพทย์ของไทยที่ยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่
18 ธ.ค.57 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชาคมสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า จ.สิงห์บุรี และจ.นครนายกเมื่อหักเงินเดือนแล้ว งบรายหัวเหลือเพียง 100-300 บาทต่อประชากรว่า ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งจากข้อมูลรายได้ของจังหวัดต่อประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองทั้งหมด นั้น จ.สิงห์บุรี เมื่อหักเงินเดือนอยู่ที่ 1,384 บาทต่อประชากร จ.นครนายกอยู่ที่ 1,257 บาทต่อประชากร แต่ถ้ารวมเงินเดือน จ.สิงห์บุรี อยู่ที่ 3,484 บาทต่อประชากร จ.นครนายกอยู่ที่ 2,609 บาทต่อประชากร และถ้าหากรวมรายได้จากทุกประเภทคือ ทั้งสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมแล้ว ประชากรทุกสิทธิ์ของ จ.สิงห์บุรี มีงบประมาณที่ถูกใช้เพื่อการรับบริการสาธารณสุขอยู่ที่ 4,751 บาทต่อประชาชน และ จ.นครนายก 3,276 บาทต่อประชากร สาเหตุที่งบประมาณสำหรับการรักษาประชากรสิทธิ์บัตรทองเมื่อรวมเงินเดือนแล้วมากกว่างบรายหัวที่ได้นั้นเนื่องจากภาระเงินเดือนที่สูงของจังหวัด จึงมีมาตรการปรับเกลี่ยงบบัตรทองมาช่วยตั้งแต่ต้น
โฆษกสปสช. กล่าวต่อว่า พื้นที่ จ.สิงห์บุรี และ จ.นครนายกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรน้อย ขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์อยู่มาก จึงทำให้มีสัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อประชากรสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เขตเมือง ดังนั้นงบเหมาจ่ายรายหัวส่วนหนึ่งจึงถูกหักไปเป็นสัดส่วนเงินเดือนที่ค่อนข้างมากกว่าพื้นที่อื่น ที่มีบุคลากรทางการแพทย์น้อย แต่มีประชากรที่ต้องดูแลมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นหนึ่งในปัญหาด้านการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่ยังมีปัญหาอยู่
“ขณะเดียวกันจากข้อมูลตรงนี้จะเห็นว่า จุดเด่นที่สำคัญของการใช้จำนวนประชากรเป็นฐานคิดเพื่อของบประมาณสำหรับการดูแลประชาชน ก็เพื่อให้งบประมาณกระจายไปตามประชากรจริงๆ ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการพิเศษ เป็นการออกแบบระบบเพื่อป้องกันการโยกงบประมาณไปไว้ในพื้นที่ที่เพราะต้องการหาผลประโยชน์เฉพาะตน เช่น การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นกลไกและหลักเกณฑ์ที่สำคัญของหลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ” ทพ.อรรถพร กล่าว
- 5 views