กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน 3 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และวางแผนการดำเนินงานในการป้องกันและ ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย หวังให้คนไทยได้บริโภคเกลือที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน 3 ภาค ปี 2558” ณ โรงแรมเดอะปาร์ค ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่า ความรุนแรงของปัญหาจะมีแนวโน้มลดลง แต่การป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนเป็นสิ่งที่กรมอนามัยและภาคีเครือข่าย ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมาตรการและวิธีการดำเนินงานย่อหย่อนลง ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะกลับมาอีก และอาจเป็นปัญหาที่รุนแรงเหมือนในอดีต การที่ประชาชนขาดสารไอโอดีนจะมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ผู้ที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอมีผลทำให้ร่างกายและสมองเจริญเติบโตด้อยลง รูปร่างเตี้ย แคระแกรน ความฉลาดทางปัญญาด้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2556) พบว่าการแก้ไขปัญหาการขาดไอโอดีนของไทยในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแนวโน้มที่ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจะกลับมาอีก มาตรการหลักในการป้องกันและควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน คือ เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า ผลสำรวจในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประชาชนใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด (20-40 พีพีเอ็ม) ร้อยละ 82.5 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้คือร้อยละ 90
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน ต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกัน อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนเป็นประจำ และที่สำคัญคือความร่วมมือร่วมใจของภาคี เครือข่ายในการดำเนินงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน 3 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นชมรมที่ช่วยกันคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และวางแผนการดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัยมาโดยตลอด ส่งผลให้การใช้เกลือเสริมไอโอดีนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน จากชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 100 คน จึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชมรมผู้ประกอบการ เกลือเสริมไอโอดีน และเพิ่มขีดความสามารถที่จะนำไปสู่การดำเนินงานของชมรมต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ประชาชนว่าเกลือที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดเสริมไอโอดีนและมีคุณภาพ
“สำหรับการดำเนินงานในช่วงระยะ พ.ศ. 2557-2559 นี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายให้ ประเทศไทยปลอดโรคขาดสารไอโอดีน เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะที่ดีของทุกกลุ่มวัยก้าวไกลสู่อาเซียน ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ คือ 1) การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สร้างความร่วมมือองค์กร ภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ 2) เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า มีการผลิตและกระจายเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ 3) ระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในกลุ่มเสี่ยง 4) สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีการใช้เกลือเสริม ไอโอดีนในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและชุมชน 5) ประชาสัมพันธ์ รณรงค์และการตลาดเชิงสังคมเพื่อส่งเสริมการบริโภค เกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง 6) การศึกษาวิจัยต่าง ๆ และ 7) การใช้มาตรการเสริม โดยให้สถานบริการสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชนจ่ายยาเม็ดวิตามินเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดให้นมบุตรนาน 6 เดือน อย่างต่อเนื่อง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
- 71 views