วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472

ในปี พ.ศ. 2493 หรือ 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทิวงคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ขึ้น โดยประดิษฐานไว้ ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที ด้วย สำนึกในพระเมตตาคุณของพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแก่วงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงาน ซึ่งพระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐานและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

ครั้นพระราชอนุสาวรีย์สร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 24 เมษายน พ.ศ. 2493 หลีงจากนั้น 1 ปี วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2494 สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราชและนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของนายบุญเริ่ม  สิงหเนตร นายกสโมสรนัก ศึกษาแพทย์และนางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล ได้นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลา แล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ “ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท” ซึ่งประพันธ์โดย นายภูเก็ต วาจานนท์  หลังจากนั้น  ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร  และ ศ.นพ.เติม บุนนาค   วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน และนับตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน จะมีกิจกรรมที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระราชา นุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช  มีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปี 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 ศาสตราจารย์นายแพทย์กษาณ จาติกวณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช มีดำริให้จัดทำของที่ระลึกขึ้น เพื่อมอบเป็นสิ่งตอบแทน แก่ผู้บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาล เป็นธงรูปสามเหลี่ยมทำจากผ้าต่วนสีขาว พิมพ์ภาพพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ล้อมรอบด้วยอักษรข้อความ “ที่ระลึกวันมหิดล - วันที่ ๒๔ กันยายน” อยู่ส่วนบน และข้อความ “โรงพยาบาลศิริราช” อยู่ส่วนล่าง โดยทั้งหมดเป็นสีเขียวสำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป และแถบริบบินสีต่างๆ พิมพ์ภาพ (อยู่ซ้ายมือ )และข้อความ (เป็นแนวตรงเรียงแถวสามบรรทัดอยู่ขวามือ) เช่นเดียวกับบนผืนธง สำหรับผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป ซึ่งทางโรงพยาบาลมอบหมายให้สโมสรนักศึกษาแพทย์ จัดสรรแก่หน่วยนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ที่อาสาออกรับเงินบริจาคในวันที่ 24 กันยายนเพียงวันเดียว แต่ก็ได้รับบริจาคมาเป็นเงิน 69,758 บาท 45 สตางค์

ในปีถัดมา พ.ศ. 2504  มีการผลิตธงเพิ่มเป็นสามขนาด โดยจะมอบธงขนาดใหญ่ ให้แก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งเพิ่มธงสีเขียว พิมพ์ภาพและข้อความด้วยสีขาว อีกลักษณะหนึ่งด้วย จากนั้นในปี พ.ศ. 2509 จึงเริ่มใช้สีธงตามวันในสัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 24 กันยายน โดยในปีนั้นตรงกับวันเสาร์ จึงผลิตธงด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้หลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเริ่มการจัดทำเสาไม้สีขาวพร้อมติดธง เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ต่อมาภายหลังได้ยกเลิกการผลิตริบบิน และเปลี่ยนมาเป็นแผ่นสติกเกอร์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีต่างๆ ซึ่งมีภาพและข้อความเช่นเดียวกันขึ้นทดแทน รวมถึงกลุ่มนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาล ได้จัดให้มี กิจกรรมออกรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ของทุกปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ธงที่ระลึกซึ่งเตรียมไว้ มีไม่เพียงพอกับการมอบให้ผู้บริจาค กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ก่อตั้งเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ด้วยชื่อเริ่มต้นว่า กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยจัดทำ จนมีพอเพียงกับความต้องการของผู้บริจาค ในปีต่อมา โรงพยาบาลศิริราชจึงจัดจ้างกลุ่มอาสาฯ ให้เป็นหน่วยหลักในการผลิตธงที่ระลึก มาจนถึงทุกวันนี้  

ปัจจุบัน นอกจากคณะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลศิริราชแล้ว ยังประกอบไปด้วยคณะนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากทุกมหาวิทยาลัยจะจัดกิจกรรมออกหน่วยรับบริจาค นำเงินเข้าสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ที่ก่อตั้งเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2512 โดยเมื่อบริจาคตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลขนาดใหญ่ เมื่อบริจาคตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดลพร้อมเสาธง เมื่อบริจาคตั้งแต่ 20 บาท จะได้รับธงที่ระลึกวันมหิดล และเมื่อบริจาคสมทบทุน จะได้รับสติกเกอร์ที่ระลึกวันมหิดล

เอกสารอ้างอิง

วันมหิดล. [Online], สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2557, จาก http://th.wikipedia.org/wiki/วันมหิดล

ประวัติวันมหิดล.[Online], สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2557, จาก http://www1.si.mahidol.ac.th/mahidolday/history-mahidolday

24 กันยายน วันมหิดล.[Online], สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2557, จาก http://www.vcharkarn.com/varticle/38179