แม้ "แพทยสภา" จะมีภารกิจในการควบคุมจริยธรรมแพทย์ แต่จากกรณีที่ผ่านมา ทั้งการทำอุ้มบุญผิดกฎหมาย การโฆษณาการบริการด้านการแพทย์เกินจริง หลายครั้งเกิดคำถามว่า แพทยสภา มีการพิจารณาเอาผิดแพทย์กลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน หรือเพียงพักใช้ใบอนุญาตวิชาชีพเท่านั้น ขณะที่ปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์กับคนไข้ จนกลายเป็นคดีความยังมีอย่างต่อเนื่อง...
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ตั้งคำถามว่า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่ แทนชุดเก่าที่จะหมดวาระลงในวันที่ 31 มกราคม 2558 กรรมการแพทยสภาชุดใหม่จะมี นโยบายการดำเนินงานอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนบ้าง เพราะดูเหมือนผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ประชาชนจะเป็นผู้รับเคราะห์เสมอ
ดังนั้น การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้เป็นความหวังของผู้ป่วยทุกคน เพราะที่ผ่านมาเห็นชัดว่าแพทยสภาไม่สามารถหยุดคดีความต่างๆ ระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้ และเมื่อไปถึงชั้นศาลก็มักจะช่วยเหลือแพทย์เป็นหลัก
ส่วนที่แพทยสภาชุดเดิมบอกว่าควรไปผลักดันมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้เยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการบริการทั้ง 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเรื่องนี้มีการประชุมหลายครั้ง สุดท้ายก็ติดกฎหมายของแต่ละกองทุน วิธีที่ดีที่สุด คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งล่าสุดร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้เสนอขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) โดยมอบให้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. พิจารณาแก้ไข รวมทั้งเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ แต่ยังเงียบอยู่ จึงขอวอนรัฐบาลให้ความสำคัญและเดินหน้าอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายชื่อผู้สมัคร 98 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแพทยสภาเดิม คือ "ชมรมแพทย์ เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.)" นำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่ครองตำแหน่งมาถึง 6 สมัย อีกกลุ่มใช้ชื่อ "แพทยสภาภิวัฒน์" นำโดย นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา 3 สมัย เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองมาก เพราะเดิมอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ชพพ. แต่แยกออกมา ส่วนอีกกลุ่มคือ "กลุ่มพลังแพทย์ ทำเพื่อแพทย์" มี พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา อดีตกรรมการแพทยสภา และกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มแพทย์ไทยสามัคคีเพื่อวิชาชีพเวชกรรม (พทส.) และกลุ่มผู้แทนราชวิทยาลัยต่างๆ
โดยกลุ่มดั้งเดิมอย่าง ชพพ. ที่มี "ศ.นพ.สมศักดิ์" เป็นประธาน ชูนโยบายแก้ไขมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพื่อคุ้มครองความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยให้การคุ้มครองที่ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงทุกระบบรักษาพยาบาล ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้ว ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพแพทย์เพราะมีระบบรองรับ ซึ่งการขยายมาตรา 41 นี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ที่มีความพยายามผลักดันขณะนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบการรักษาพยาบาลของประเทศเอง นอกจากนี้ยังเดินหน้าการคุ้มครองให้แพทย์ที่รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
ด้านกลุ่มแพทยสภาภิวัฒน์ "นพ.ศุภชัย" ห่วงใยกรณีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายที่ยังเป็นข้อถกเถียงจนก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์จากการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทั้งภาวะแทรกซ้อน ทั้งบุคลากรสาธารณสุข เครื่องไม้เครื่องมือไม่เพียงพอ คนไข้มาก ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาเยียวยา แต่ต้องเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมทั้งคนไข้และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน
ทั้งนี้ บางกลุ่มเสนอให้ขยายมาตรา 41 ไปยังทุกสิทธิรักษา แต่อย่าลืมว่ามาตรา 41 มีช่องที่คนไข้สามารถฟ้องร้องต่อได้ แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจะกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า เมื่อได้รับการเยียวยาชดเชยแล้ว จะต้องยุติกรณีพิพาทฟ้องศาลต่างๆ แต่หากไม่พอใจค่าเยียวยา ไม่ยอมรับเงิน และต้องการฟ้องร้องทางศาลหรืออุทธรณ์ค่าชดเชยให้ฟ้องร้องต่อคณะกรรมการกองทุนแทน
ส่วนกลุ่มพลังแพทย์ ทำเพื่อแพทย์ ชูการแยกการบริหารบุคลากรการแพทย์ออกจาก ก.พ. ขณะที่ราชวิทยาลัยต่างๆ โดย นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แม้จะเป็นม้านอกสายตา และรับว่าการลงสมัครครั้งนี้ค่อนข้างลำบากใจ เพราะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่อยากขอโอกาสในการแก้ปัญหาระหว่างแพทย์กับคนไข้ ที่หลายครั้งกลายเป็นปัญหาการฟ้องร้องคดีความต่างๆ ซึ่งการป้องกันและลดปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องมีความรู้ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ มีการตรวจวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ และต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับคนไข้ ญาติคนไข้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะหากทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีย่อมลดปัญหาความไม่เข้าใจและการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุขมีข้อถกเถียงกันมาก ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
คงต้องรอดูผลการเลือกตั้งวันที่ 21 มกราคม 2558 ว่า กลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ใครจะมา...
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 ธันวาคม 2557
- 4 views