อย.ห่วงสถานการณ์เชื้อดื้อยา ชี้เป็นวิกฤตร่วมของคนทั่วโลก ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่จะรักษาเชื้อดื้อยากำลังขาดแคลน ขณะที่ยาปฏิชีวนะที่มีตอนนี้ก็สูญเสียประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงเรื่อยๆ เท่ากับว่า ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากเท่าใด เชื้อแบคทีเรียก็จะกลายพันธุ์จนดื้อยานั้น และยาปฏิชีวนะก็สูญเสียฤทธิ์ในการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น จี้แพทย์สั่งใช้เท่าที่จำเป็น ตามหลักวิชาการ ตรงกับโรค ย้ำประชาชนไม่ควรขอยาปฏิชีวนะหรือซื้อกินเอง ขณะที่ร้านค้าขายยาปฏิชีวนะมีโทษ เตรียมใช้มาตรการควบคุมทั้งกฎหมายและให้ความรู้ 
 

จากงานประชุม ASEAN Antibiotic Awareness Day เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งนำเสนอข้อมูลว่าคนไทยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะสูงถึง 38,000 ราย นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากการศึกษาเบื้องต้นของทีมวิจัย ในปี 2553 เรื่อง ผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐศาสตร์จากการติดเชื้อดื้อยาในประเทศไทย โดยประมาณขนาดผลกระทบดังกล่าวของการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกิดจากเชื้อดื้อยาสำคัญ 5 ชนิด ซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจทางตรงจากมูลค่าของยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษา และทางอ้อมจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านบาท ผลกระทบดังกล่าวมีขนาดมากกว่าปัญหาสุขภาพหลายชนิดที่ถูกจัดให้มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในโรงพยาบาลน้อยมาก อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สัมพันธ์กับการดื้อยาปฏิชีวนะในชุมชนนอกเหนือไปจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมในคนโดยร้านชำ ร้านยา คลินิก และโรงพยาบาล และอนามัยส่วนบุคคลของประชาชน 

นพ.ปฐม กล่าวว่าการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจะใช้มาตรการทางกฎหมายหรือการปกครองร่วมกับมาตรการทางการศึกษาและสังคม เพื่อสร้างบรรทัดฐานหรือค่านิยมใหม่ของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลให้เกิดในสังคมไทย โดยเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้ หากทุกคนตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหา เห็นพ้อง และลงมือทำ พร้อมทั้งให้คำแนะนำดังนี้ 

1.บุคลากรทางการแพทย์ควรวินิจฉัยโรคให้แม่นยำและสั่งใช้ยาปฏิชีวนะตามหลักฐานทางวิชาการ ไม่สั่งยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหวัด และท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ รวมทั้ง การปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด 

2.ประชาชนไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะหากไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคใด ดังนั้น ควรสอบถามแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้รู้ก่อนว่าป่วยเป็นโรคใด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ หากมีการสั่งยาปฏิชีวนะ ควรถามให้เข้าใจว่ายาปฏิชีวนะนี้มีประโยชน์กับท่านอย่างไร และจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะครั้งนี้หรือไม่ ท่านไม่ควรขอยาปฏิชีวนะเพราะทำให้แพทย์ลำบากใจในการรักษาตามหลักวิชาการ และไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองจากร้านค้าทั่วไปหรือร้านชำโดยเด็ดขาด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาปฏิชีวนะ

3.บุคลากรร้านค้าทั่วไปหรือร้านชำสามารถช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในชุมชนของท่านได้โดยไม่จำหน่ายยาปฏิชีวนะ ท่านสามารถจำหน่าย ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ให้แก่คนในชุมชนได้ซึ่งไม่ผิดกฎหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการเจ็บป่วยเล็กน้อยของคนในชุมชน ในทางตรงข้าม หากท่านจำหน่ายยาปฏิชีวนะ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

รองเลขาธิการอย. กล่าวเสริมว่า สถานการณ์เชื้อดื้อยาเป็นวิกฤตร่วมของคนทั่วโลก เพราะยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ที่จะใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยากำลังขาดแคลน เนื่องจากไม่มียาใหม่ให้ใช้ขณะที่ยาปฏิชีวนะที่มีใช้ในปัจจุบันก็สูญเสียประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียลงเรื่อย ๆ กล่าวคือ ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากเท่าใด เชื้อแบคทีเรียก็จะกลายพันธุ์จนดื้อยานั้น และยาปฏิชีวนะก็สูญเสียฤทธิ์ในการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น 

การแก้ปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยจึงมีการดำเนินการในหลายระดับ ระดับโลก เช่น การร่วมกับภาคีสุขภาพโลกที่นำโดยองค์การอนามัยโลก/องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ/องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคีความมั่นคงทางสุขภาพโลก และภาคีความร่วมมือด้านนโยบายการต่างประเทศและนโยบายด้านสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ความร่วมมือระดับอาเซียน และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกด้วย ส่วนของการดำเนินการภายในประเทศ ก็มีการดำเนินการร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ด้าน น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แม้การใช้ยาในสัตว์จะมีส่วนในการก่อให้เกิดเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล กรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์ และเกษตรกร ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ใช้ยาน้อยที่สุด ควบคู่กับการนำระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพมาใช้เพื่อป้องกัน เชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม โดยให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และสัตวแพทย์ ซึ่งต้องดูแลทั้งความปลอดภัยของสัตว์ และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื่องจากสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อล้วนส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน