สนช.ผ่านวาระแรก ร่างกฎหมาย "อุ้มบุญ" พร้อมตั้งกรรมาธิการฯ พิจารณาใน 30 วัน "วัลลภ" ตั้งข้อสังเกต บทลงโทษแม่อุ้มบุญสูงกว่าคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้าน "ภิรมย์" แนะตัดผสมเทียมออกจากนิยามเพราะเป็นคนละประเภทกัน
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.57 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ใช้บังคับการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยาก โดยให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัยทางจริยธรรม รวมทั้งควบคุม และตรวจสอบการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ กคพ. ยังมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องปฏิบัติตาม กำหนดการตั้งครรภ์แทน โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ให้กับสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ห้ามดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และกำหนดบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ โดยหากมีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม รวมทั้งควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
นายภิรมย์ กมลรัตนกุล สมาชิก สนช. อภิปรายว่า น่าจะแก้ไข คำนิยามในมาตรา 2 ที่รวมถึงการผสมเทียม ซึ่งไม่น่าจะนำมาเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องผสมเทียมทำได้ตามปกติและการผสมเทียมก็มีลักษณะแตกต่างกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ
นอกจากนี้ มาตรา 6 ซึ่งเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ กคพ. ส่วนใหญ่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง บางตำแหน่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรรมการยังขาดบุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงน่าจะเพิ่มสัดส่วนแพทยสภา บุคลากรในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ฯ ร่วมเป็นกรรมการ
ด้านนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ในหมวดกำหนดโทษในหมวด 6 มาตรา 42 และ 44 ถึง 47 กำหนดแปลกไปจากกฎหมายอื่นๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการเกี่ยวกับการอุ้มบุญ ผู้ค้า ผู้เกี่ยวข้อง กลับมีโทษน้อยกว่าแม่ที่อุ้มบุญ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว วาระ 1 ด้วยคะแนน 177 เสียง ไม่เห็นด้ว ย 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ 18 คนขึ้นมาเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557
- 29 views