ขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งระลอกล่าสุด ระหว่าง 2 ผู้เล่นสำคัญในระบบสุขภาพ คือ สปสช. และสธ. ที่ปะทะกันมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ไทยสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าเป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งหลักใหญ่ใจความของความขัดแย้งครั้งนี้ คือ ความเห็นต่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังไม่นับรวมกับความขัดแย้งในด้านอื่นๆ ตั้งแต่เรื่อง ทิศทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่าจะเดินหน้าแบบไหน เขตสุขภาพ หรือต้องให้รพ.ออกนอกระบบ หรือต้องทำให้มีกองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียว หรือว่าควรต้องทำทุกอย่างที่ว่ามา แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ควรทำอะไรก่อนหลัง ที่ประเทศอังกฤษ ประเทศต้นแบบของหลักประกันสุขภาพที่ไทยกำลังเดินตาม ซึ่งแม้ว่าจะมีประสบการณ์การพัฒนาหลักประกันสุขภาพจนสามารถปักหลักได้อย่างมั่นคงในปัจจุบัน ก็ยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับยุคสมัย คำถามที่อังกฤษใช้เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องเพื่อทุกคนคือ “จริงๆแล้ว เราต้องการอะไรจากระบบสุขภาพ ?”

และหนึ่งในกลไกหลักสำคัญที่ระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษใช้ คือ สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence : NICE) ซึ่งก่อตั้งมากว่า 15 ปี เพื่อใช้ในการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านสุขภาพและดำเนินงานด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็งและตั้งอยู่บนความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์เดวิด อัสลาม 

ในปาฐกถาของ ศาสตราจารย์เดวิด อัสลาม ประธาน NICE ณ ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงที่ผ่านมา ได้สนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขสำหรับประเทศที่มีหรือกำลังจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

โดยระบุว่า “ทุกๆ ประเทศควรต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรจากระบบสุขภาพของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น หากมุ่งเน้นไปที่การลดความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพและปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเป็นลำดับแรก จากหลักฐานเชิงวิชาการะบุว่าควรมุ่งเน้นไปที่การบริการระดับบริการระดับปฐมภูมิ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคมากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบสืบสวนโรคและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย”

สำนักข่าว Health Focus เห็นว่า เนื้อหาสาระจากปาฐกถาดังกล่าว น่าจะช่วยชี้ทิศทาง และหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทยครั้งล่าสุดนี้ได้ จึงได้แปลปาฐกถาของประธาน NICE เพื่อเผยแพร่ดังนี้

การประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก คือการประชุมร่วมกันของตัวแทนสมาชิกฯจากนานาประเทศทั่วโลกเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ และร่วมมือกันแก้ไขประเด็นปัญหาสาธารณสุขต่างๆ ในระดับโลก ล่าสุด จากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ศาสตราจารย์เดวิด อัสลาม  ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence : NICE) ในฐานะตัวแทนจากสหราชอาณาจักร ได้กล่าวสุนทรพจน์ (ดูที่นี่) เพื่อสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญปัญหาสุขภาพและสาธารณสุขสำหรับประเทศที่มีหรือกำลังจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 

“ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา แทบไม่มีสิ่งใดที่จะสำคัญไปกว่าการมีสุขภาพที่ดี พวกเราซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็เป็นหนี้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ เพราะในระบบสาธารณสุข เรามักจะต้องถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อกฎหมายด้านสุขภาพที่สวนทางกับความเป็นจริง ซึ่งแพทย์ประจำบ้านชาวเวลส์ท่านหนึ่งได้เคยกล่าวไว้ว่า  ความพร้อมของระบบบริการการแพทย์ที่ดี มีแนวโน้มที่จะผกผันกับปริมาณความต้องการบริการด้านนี้ในกลุ่มประชากรอย่างรุนแรง

 

ด้วยเหตุนี้เอง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่ง และอย่างที่ทราบกันดีว่า องค์การสหประชาชาติได้ออกมาเรียกร้องให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามอบโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งทางกายและจิตใจด้วยมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะจัดหาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราต่างก็ตระหนักดีว่า ความต้องการบริการด้านสาธารณสุขของประชาชนนั้นย่อมมีมากเกินกว่างบประมาณสนับสนุนที่มีอยู่ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องมีกลไกที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า เราจะได้รับผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะมีงบประมาณด้านสาธารณสุขเท่าไหร่ก็ตาม และนั่นก็คือหน้าที่ของสถาบันไนซ์ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ ทำงานภายใต้ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญของการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[1]มาตั้งแต่ปี คศ.1948 (พ.ศ.2491) ประชากรของเราไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางการเงินที่เกิดจากการเจ็บป่วย และฐานะ หรือความสามารถในการจ่ายค่าของคนไข้แต่ละรายก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการตรวจรักษาที่พวกเขาจำเป็นจะต้องได้รับ กลุ่มคนที่มีฐานะยากไร้ที่สุดในสังคมก็มีสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาเฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะต้องดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกๆ อย่างให้ทุกคนตลอดเวลา

ซึ่งหนึ่งในบทบาทหลายๆ ด้านของไนซ์ ก็คือการมองหาแนวทางการรักษาใหม่ๆ และตัดสินใจว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนใดที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยพิจารณาจากประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้แนวทางการรักษานั้นๆ ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานเราพบว่า กว่าร้อยละ 80 นั้นได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในบางครั้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการตรวจรักษาเพิ่มเติมก็ไม่สามารถพิสูจน์ความสมเหตุสมผลได้ เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว เงินทุกๆ ปอนด์ที่ประเทศของเรามีนั้น สามารถจ่ายออกไปได้เพียงแค่ครั้งเดียว  เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิดหรือยอมจ่ายให้กับสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ความสมเหตุสมผลได้ เมื่อนั้นเราก็เสี่ยงที่จะทำร้ายคนอื่นๆ ในประเทศเพราะระบบการให้บริการจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

การตัดสินใจว่าจะใช้การรักษาในรูปแบบใดขึ้นอยู่กับความคุ้มค่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะหรือความสามารถในการจ่าย  ฉะนั้นเมื่อสถาบันไนซ์ลงความเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ที่พิจารณา "ผ่าน" ความเห็นชอบ ประชาชนก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับทราบข้อควรระวังหรือข้อบ่งใช้ของยานั้นๆ โดยสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามธรรมนูญระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ 

หลักการที่ช่วยสนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจของเรา ประการแรกก็คือ ความเป็นอิสระ ถึงแม้ว่าสถาบันไนซ์จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษ แต่เราก็เป็นองค์กรอิสระที่เปรียบเสมือนแขนซึ่งยื่นออกมาจากร่างกาย  และด้วยความเป็นอิสระนี้เองที่ทำให้เราสามารถเปิดเผยข้อมูลซึ่งอาจทำให้ฝ่ายการเมืองไม่พอใจนัก แต่มันก็เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับนักการเมืองที่จะบอกว่าแนวทางการรักษานั้นๆ ไม่มีความคุ้มค่าพอ แต่สำหรับไนซ์เรามีอิสระที่จะทำได้และมันก็เอื้อให้เราสามารถดำเนินงานตามหลักการของเราในด้านอื่นๆ ได้ด้วย

ทุกๆ การตัดสินใจของไนซ์จะดำเนินงานตามหลักฐานเชิงวิชาการที่ดีที่สุดที่มีอยู่ โดยอาศัยข้อมูลจากคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในทุกๆ ขั้นตอน ทั้งนี้คณะกรรมการทุกชุดจะมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับไนซ์และจะมีตัวแทนคนไข้รวมถึงผู้ดูแลเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแต่ละชุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการบริการทางสาธารณสุข คณะกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติหรือคำแนะนำในการตรวจวินิจฉัย ทั้งนี้ คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะจัดทำรายงานเบื้องต้นส่งให้ไนซ์เพื่อนำไปใช้ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเมื่อกระบวนการทำงานเสร็จสมบูรณ์ ไนซ์ก็จะจัดให้มีการทบทวนและตรวจสอบตามปกติอีกครั้ง

และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า กระบวนการทำงานของไนซ์นั้นเปิดเผยและโปร่งใส แม้กระทั่งการประชุมคณะกรรมการซึ่งโดยปกติก็เปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมรับฟังได้ อย่างในประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เราพบว่ามีสมาชิกภาคประชาชนกว่า 50 คนเข้าร่วมฟังการอภิปรายและร่วมซักถามข้อสงสัยซึ่งเกือบทุกข้อก็เป็นคำถามและความคิดเห็นที่ช่างท้าทายและน่าขบคิด   

และในที่สุด เราก็มีสภาพลเมือง ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในสหราชอาณาจักรที่สามารถสะท้อนค่านิยมและความเป็นธรรมในสังคมเกี่ยวกับประเด็นที่เราควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เราคงไม่สามารถสรุปได้ว่าค่านิยมส่วนบุคคลที่มาจากสมาชิกสภาพลเมืองคือตัวแทนค่านิยมของทุกคนในสังคม แต่สภาพลเมืองก็ช่วยทำให้มั่นใจว่าเรากำลังเดินไปในทิศทางเดียวกันกับที่สาธารณชนต้องการ ในฐานะที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ 

ทั้ง “ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ” (National Health Service : NHS) และ ”สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์” (National Institute for Health and Care Excellence : NICE) ต่างก็ดำเนินงานโดยใช้เงินภาษีของประชาชน ซึ่งก็มีอยู่หลายครั้งที่การอภิปรายของทั้งสององค์กรมีทั้งความท้าทายและน่าติดตาม ยกตัวอย่างเช่น การอภิปรายครั้งล่าสุดที่ตั้งประเด็นไว้ว่า "ทำอย่างไรให้การบริการสาธารณสุขเกิดความสมดุลระหว่างความมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม"

จะเห็นได้ชัดว่าค่านิยมในสังคมมีความสำคัญอย่างมากต่อการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุข  ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญดังกล่าวและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบใดๆ ก็ตาม  “ทางเลือก” คือสิ่งที่ควรสร้างสรรค์ขึ้น โดยเฉพาะในการสร้างสรรค์ทุกสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ การจัดลำดับความสำคัญ จะนำมาซึ่งกระบวนการทำงานที่มีฐานมาจากการใช้ข้อมูลและความรู้ ซึ่งจะช่วยกำหนดความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ด้วยกระบวนการทำงานที่เป็นไปตามขั้นตอนและมีความเป็นธรรม

ทุกๆ ประเทศควรต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรจากระบบสุขภาพของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น   หากมุ่งเน้นไปที่การลดความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพและปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเป็นลำดับแรก จากหลักฐานเชิงวิชาการะบุว่าควรมุ่งเน้นไปที่การบริการระดับบริการระดับปฐมภูมิ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคมากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบสืบสวนโรคและเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย

แต่ในความเป็นจริง ในหลายๆ พื้นที่กลับมีการลงทุนเพื่อจัดหาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ  ปรากฏการณ์นี้นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความชัดเจนของวัตถุประสงค์และจุดมุ่งเน้นจริงๆ ในการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ  

ในการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุขพบว่า การป้องกันก่อนเกิดโรคคือแนวทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่บุคลากรส่วนใหญ่มักไม่ค่อยกระตือรือล้นที่จะดำเนินการ นั่นอาจเป็นเพราะเราไม่สามารถมองเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ ส่วนใหญ่เราพบเจอแต่คนไข้โรคหัวใจวายที่ได้รับการผ่าตัดรักษาจนประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เคยพบเจอกับคนที่บอกว่าตัวเองไม่ได้หัวใจวายเพราะรู้จักป้องกันด้วยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพธรรมดาทั่วๆ ไป อันที่จริงแล้ว แม้แต่คนที่ไม่ได้มีอาการหัวใจวายเลย เขาก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าหัวใจของตัวเองจะวายหรือไม่ !

นี่ไม่ใช่เรื่องตลกและไม่ใช่เรื่องเล่าขำขัน หากเลือกได้เชื่อว่าพวกเราทุกคนต่างก็เลือกที่จะเป็นคนซึ่งไม่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ มากกว่าที่จะเป็นคนซึ่งประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษา และนี่คือเหตุผลว่า เพราะเหตุใดการใช้หลักฐานเชิงวิชาการและการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการพัฒนาแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุข และการเพิ่มขึ้นของข้อเรียกร้องที่คณะทำงานได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเทศต่างๆ ซึ่งในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) สถาบันไนซ์ได้ก่อตั้งแผนก “ไนซ์อินเตอร์เนชั่นแนล” ขึ้น เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกโดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางที่มีหรือกำลังจะขับเคลื่อนไปสู่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไนซ์อินเตอร์เนชั่นแนลจะเข้าไปช่วยสนับสนุนประเทศเหล่านั้นให้สามารถประยุกต์ใช้หลักฐานเชิงวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนค่านิยมของคนในสังคมและการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มาใช้ปรับปรุงคุณภาพของระบบบริการสาธารณสุข   

จุดมุ่งหมายสำคัญของไนซ์อินเตอร์เนชั่นแนล คือ การถ่ายทอดเทคนิคที่จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายในประเทศเหล่านั้น สามารถที่จะตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านสุขภาพและดำเนินงานด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็งและตั้งอยู่บนความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้การทำงานของเราไม่ได้เป็นการเพียงการถ่ายทอดหลักการและข้อสรุปเท่านั้น ตรงกันข้าม เราได้เข้าไปแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางที่เราใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน   

ต้องขอขอบคุณการสนับสนุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์  กรมการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ที่ทำให้ไนซ์อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำงานร่วมกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงาน เพื่อดำเนินโครงการ International Decision Support Initiative (iDSI) ซึ่งมีทีมสหสาขาวิชาชีพจากนานาประเทศมาทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ในการ

- จัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านสุขภาพและสร้างความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของประเทศนั้นๆ

- สร้างและพัฒนาขีดความสามารถให้แก่หน่วยงาน ที่จะทำหน้าที่จัดลำดับความสำคัญปัญหาสุขภาพและสาธารณสุข

- สร้างกลไกในการจัดลำดับความสำคัญปัญหาด้านสาธารณสุข โดยใช้หลักฐานวิชาการและข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส มีมาตรฐาน 

ภายใต้การดำเนินงานของ iDSI เรามุ่งที่จะสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เครือข่ายวิชาชีพ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางระดับภูมิภาคในการเผยแพร่และผลักดันให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญด้านสาธารณสุขอีกด้วย

สาเหตุที่ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ ก็เพราะไนซ์เล็งเห็นว่า “องค์การอนามัยโลก” คือพันธมิตรหลักของทั้ง iDSI และหน่วยงานในระดับนานาชาติต่างๆ ผมยินดีที่ยังคงได้ทำงานร่วมกับสำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก และสำนักงานในระดับภูมิภาครวมถึงในประเทศต่างๆ ด้วย ส่วนการสร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน เราได้ มาเรีย พอล เคียนี (Marie Paule Kieny) ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายระบบสุขภาพและการค้นคว้าประจำองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ iDSI และ คีส์ เดอ จอนแชร์ (Kees De Joncherre) หนึ่งในทีมที่ปรึกษาของไนซ์อินเตอร์เนชั่นแนล มาช่วยเป็นกำลังสำคัญ   

นอกจากนี้เรายังพบว่า วิธีการดำเนินงานของเราสอดคล้องอย่างมากกับ ร่างมติเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเรียกร้องให้รัฐสมาชิก “เสริมสร้างระเบียบวิธีวิจัยระดับชาติ แนวทางการดำเนินงานและระบบตรวจสอบ ในการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีคุณภาพ และเป็นนโยบายที่เอื้อต่อการประเมินและวิจัยที่เกี่ยวข้อง” เรามุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานใหญ่และสาขาในภูมิภาคต่างๆ ขององค์การอนามัยโลก เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงในระดับโลก 

อันที่จริง การใช้กระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการใช้หลักฐานเชิงวิชาการ จะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรค์ทางเลือกอันชาญฉลาดที่สามารถสร้างความแตกต่างครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้คนนับล้านทั่วโลก แม้จะเป็นผู้คนแปลกหน้าที่เราไม่เคยพบเจอ แต่เขาเหล่านั้นก็สมควรได้รับคุณประโยชน์จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการประชุมในครั้งนี้จะทำให้มันเกิดขึ้น”  



[1] ลักษณะที่สำคัญของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติประเทศอังกฤษ เน้น คุณภาพบริการ 3 ประการที่ยึดถือกันมาตั้งแต่เริ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่

1.ตอบสนองความต้องการที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคน

2.ฟรี ณ จุดที่มีความต้องการที่สำคัญและจำเป็น

3.ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการที่จะได้รับการดูแลทางคลินิกมากกว่าดูเรื่องความสามารถในการจ่ายได้