สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระดมแพทย์ทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพรักษาผู้ป่วยมะเร็ง คร่าชีวิตคนไทยปีละ 6 หมื่นราย แนวโน้มอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งต่างๆ เพิ่มขึ้น พร้อมระบุมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกอัณฑะ มะเร็งรังไข่ชนิดเนื้อเยื่อบุผิว หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาหาย เผย มะเร็งปากมดลูก พบอุบัติการณ์ลดลง หลังมีบริการตรวจคัดกรอง
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2554 พบว่า ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ปีละประมาณ 60,000 รายหรือเฉลี่ย 7 รายต่อชั่วโมง และยังคงพบอัตราการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมะเร็งที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกในเพศชาย คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วน 3 อันดับแรกในเพศหญิง คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี
ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง และเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็ง รวมทั้งเพื่อให้ผลลัพธ์จากความก้าวหน้าทางวิชาการ มีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การควบคุมโรคมะเร็งระดับชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานของแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ การลดอัตราการเกิด และการตายจากโรคมะเร็ง ทำให้ประชาชนชาวไทยห่างไกลจากโรคมะเร็ง ยกระดับการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่ง ของกรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติในหัวข้อ “National Strategies to Nationwide Cancer Care” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ในหลากหลายสาขา จำนวน 800 คน จากทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ได้ทราบถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และวิทยาการต่าง ๆ ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ มากกว่าปกติ ให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองและในที่สุดก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นผิดปกติโดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ที่สำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่ง ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิบางชนิด สอง ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุราเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียมเป็นประจำและสุดท้ายปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีน และความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
ในปัจจุบันแพทย์สามารถรักษามะเร็งหลายชนิดให้หายได้ และทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอัตรารอดชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็งที่พบ เพราะมะเร็งระยะเริ่มแรกย่อมมีการตอบสนองต่อการรักษาหรือมีโอกาสหายขาดมากกว่าระยะลุกลาม หรือระยะสุดท้าย ดังนั้น การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญ
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง มีหลักการง่ายๆ คือ ออกกำลังกายประจำ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่างหรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม และปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบ ๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่มีเซ็กซ์มั่วหรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่อยู่กลางแดดนานๆ และที่สำคัญคือตรวจร่างกายเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
- 39 views