หมอศุภชัย กรรมการแพทยสภา ห่วงความขัดแย้ง “ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” เสนอเป็นแกนนำร่างกฎหมาย เน้น 4 หลักการสำคัญ คุ้มครองแพทย์และผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
14 พ.ย.57 นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา ได้แสดงความห่วงใยต่อข่าว “ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ที่ปรากฏตามหน้าสื่อหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดียในขณะนี้ เนื่องจากก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และประชาชน
นพ.ศุภชัย กล่าวว่า เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์จากการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เช่น บุคลากรไม่เพียงพอ เครื่องไม้เครื่องมือไม่ครบถ้วน ข้อจำกัดเรื่ององค์ความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความซับซ้อนของโรค วิธีการและกระบวนการรักษา แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แพทย์เป็นมนุษย์ปกติธรรมดาที่อาจจะมีปัจจัยมากระทบให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่างๆได้ ดังนั้นสิ่งที่มุ่งเน้นในพัฒนาปัจจุบันคือพัฒนาเพื่อวางระบบป้องกันภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงต่างๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นโดยมุ่งเน้น ความปลอดภัยของผู้ป่วย (patient safety) การสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นมาตรการหลักเพื่อลดความเสียหายที่ไม่สมควรเกิดเพื่อลดการฟ้องร้อง และควรมีระบบทำความเข้าใจรวมถึงบรรเทาเยียวยาความเสียหายให้ทันการณ์สามารถลดการฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลได้ ซึ่งในหลายประเทศได้มีการนำมาตรการนี้มาใช้เพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มประเทศสแกนดินาเวีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยเองได้มี มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ป่วยเช่นกัน
“ช่วงแรกเริ่มที่นำมาตรา 41 มาใช้ มีแพทย์บางกลุ่มแสดงความเห็นคัดค้าน มาตรา 41 อย่างมาก จนสร้างความหวาดกลัวในหมู่แพทย์ โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น แต่ถึงวันนี้ชัดเจนว่า มาตรา 41 ไม่เพียงแต่ช่วยเยียวยาประชาชนเท่านั้น แต่ยังลดการฟ้องร้องแพทย์ได้ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เพราะเมื่อผู้เสียหายเมื่อได้รับการชดเชยเบื้องต้นแล้ว มักยุติคดีความ และไม่มีการฟ้องร้องต่อกับแพทย์ต่อ”
นพ.ศุภชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปัญหาของ มาตรา 41 คือไม่ครอบคลุมถึงสิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและสิทธิจ่ายเอง นอกจากนี้เงินชดเชยตาม ม.41 เป็นเพียงการเยียวยาเบื้องต้น เฉพาะหน้าซึ่งเป็นเงินจำนวนน้อย เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโรงพยาบาลหรือแพทย์มักต้องหาเงินจากแหล่งอื่นมาสมทบจ่าย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับเงินแล้วยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่งต่อพิสูจน์ถูกผิดเพื่อเรียกค่าเสียหายเพิ่ม หรือนำไปสู่การฟ้องร้องทางอาญาได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งการจะขยายมาตรา41 ให้ครอบคลุมคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพ ที่อาจส่งผลต่อหลักการสำคัญของกฎหมาย ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้มีร่าง พรบ.อยู่หลายฉบับ รวมทั้งร่างของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและร่างของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่
นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ในการร่างกฎหมายเพื่อเยียวยาความเสียหายในการรับบริการสาธารณสุข มีหลักการสำคัญ คือ 1.เมื่อแพทย์ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว หากเกิดกรณีขัดแย้งขึ้น จะต้องไม่มีการฟ้องอาญา/ฟ้องแพ่งแพทย์ต่อ 2.คุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายทั้งฝ่ายแพทย์บุคลากรทางวงการแพทย์และประชาชนที่ได้รับเสียหาย เพราะ ผู้ให้บริการก็อาจได้รับความเสียหายได้ เช่น ติดเชื้ออันตรายจากการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย 3.เมื่อได้รับการเยียวยาชดเชยแล้ว จะต้องยุติกรณีพิพาทฟ้องศาลต่อไม่ได้ หากไม่พอใจค่าเยียวยา ไม่ยอมรับต้องการฟ้องร้องทางศาลหรืออุทธรณ์ค่าชดเชย ให้ดำเนินการต่อกองทุนเงินส่วนกลาง ห้ามเรียกร้องจากแพทย์เพิ่มโดยตรง และ 4.ในภาครัฐกองทุนเรียกเก็บจากงบประมาณ สปสช./ประกันสังคม/กรมบัญชีกลาง ตามสัดส่วนที่กำหนด ไม่มีการเรียกเก็บจากโรงพยาบาลหรือแพทย์
“ในฐานะแพทย์และเป็นประชาชน ได้เห็นจุดอ่อนของระบบที่ยังเป็นปัญหา จะสนับสนุนการออกกฎหมาย รวมทั้งเป็นแกนนำในการร่างกฎหมายที่จะช่วยชดเชยให้กับแพทย์และประชาชนในการเข้ารับบริการทางสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดอัตตาทิฐิ หันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อเรียกความเข้าใจอันดีกลับคืน” นพ.ศุภชัย กล่าว
- 3 views