“แนวคิดของของกุฉินารายณ์ คำว่า หมอประจำครอบครัว จะสอดคล้องไปกับหลักของ Primary care 5 ข้อ คือ 1.เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าบริการที่เหมาะสม ในทุกสภาวะไม่ว่าจะสามารถมารพ.ได้หรือไม่ได้ ถ้าหากต้องได้บริการ บริการนั้นจะต้องไปถึงผู้ป่วย 2.ได้รับการดูแลครบทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต และสังคม แม้ว่าบางเรื่องจะไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขโดยตรง 3.การส่งต่อ ต้องมีผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ 4. การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และ 5.การดูแลอย่างต่อเนื่องในทุกสภาวะของชีวิต” จากคำบอกเล่าของ นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูนเกสร ประจำปี 2555
นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ (กลาง)
ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะเข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องได้ ทุกครอบครัวจะต้องมีหมอประจำครอบครัว และต้องเป็นบุคคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลประจำ เพราะถ้าเปลื่ยนไปเรื่อยๆ จะทำให้ไม่สามารถรู้จักผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างลึกซึ้ง จากแนวคิดนี้ รพร.กุฉินารยณ์จึงได้เริ่มโครงการหมอประจำครอบครัว ที่เป็นรูปแบบเฉพาะที่เรืยกว่า กระบวนการพัฒนาเครือข่ายปฐมภูมิแบบไม้เลื้อย
นพ.สิริชัย เล่าว่า โรงพยาบาลไม่สามารถนำรูปแบบการทำงานรูปแบบเดียวไปใช้กับทุกพื้นที่ได้ หากแต่ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ทำงาน เปรียบเสมือนไม้เลื้อย ที่ปรับตัวอยู่กับต้นไม้ได้ทุกประเภท เติบโตงอกงามเคียงคู่กันไป เช่นเดียวกันกับ การแบ่งโซนในการดูแลของหมอประจำครอบครัวนั้น อาจจะมีความแตกต่างจากที่อื่น ที่ใช้ฐานของ รพ.สต.เดิม ยึดรพ.สต.เป็นหลัก ซึ่งในแต่รพ.สต.จะมีการแบ่งโซนของตนอยู่แล้ว ในแต่ละที่มีบริบทไม่เหมือนกัน รพ.สต.บางแห่งจะมีการแบ่งโซนความรับผิดชอบไว้ชัดเจนว่ากี่หมู่บ้าน บางแห่งไม่มีการแบ่งโซนกันแต่จะช่วยกันทำงานดูแลตามความจำเป็นของผู้ป่วย ดังนั้น เมื่ออิงตามรพ.สต.แบ่งไว้ จึงไม่ได้กำหนดการแบ่งโซนในการทำงานหมอประจำครอบครัว ไม่ยึดรูปแบบ ตามนิยามการทำงานของทีมว่า สไตล์ไม้เลื้อย หรือ ทีมไม้เลี้อย
“การทำงานของทีมไม้เลื้อย จะลงไปช่วยเสริมในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนอาทิตย์ละครั้งต่อพื้นที่ เรามี 18 รพ.สต. ในสัปดาห์จะลงครบทั้ง 18 พื้นที่ จะมีทีมลงวันละ 4 ทีมหมุนเวียนไป วันใดที่ทีมไม่ได้ลงพื้นที่ ทางรพ.สต.จะดูแลคัดกรองผู้ป่วย ถ้ามีปัญหาที่ซับซ้อนจะรอทีมโรงพยาบาลไปช่วยดูแล หากสามารถดูแลได้จะดูแลไปก่อน การทำงานจะ focus ไปที่เจ้าหน้าที่รพ.สต.เป็นหลัก เพราะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในพื้นที่ เราเป็นตัวเสริมให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.มั่นใจในการทำงาน และเข้มแข็งขึ้น และเสริมในเรื่องวิชาการที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ”
สิ่งสำคัญของทีมสุขภาพปฐมภูมิไม้เลื้อ คือจุดเสริมด้วยทีมสหวิชาชีพ ซึ่งนพ.สิริชัย อธิบายวถึงบทบาทของทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลว่า คือการไปช่วยเสริมในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยที่เป็น Primary care นั้น ไม่ได้มีแต่โรคง่ายๆ บางครั้งมีโรคที่ต้องการการดูแลเฉพาะ ต้องการการดูแลที่มีคุณภาพขั้นสูง แต่ผู้ป่วยไม่สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลได้ หรือไม่สามารถไปโรงพยาบาลระดับสูงได้
ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org
“ดังนั้นเราต้องจัดบริการไปหาผู้ป่วย ด้วยการจัดทีมสหวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด เภสัชกร แพทย์ พยาบาล พยาบาลพิเศษไปดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับหมอประจำครอบครัวจะเป็นผู้ประเมินว่า ผู้ป่วยจะต้องได้พบกับใคร แล้วประสานมาที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะจัดวิชาชีพนั้นๆ ลงไปดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ครอบคลุม ผลลัพธ์ออกมาดี อย่างเช่น คนพิการ ที่แต่เดิมอัตราการฟื้นฟูจนสามารถกลับมาเดินได้มีน้อยมาก แต่ตอนหลังมีอัตราการฟื้นฟูสูงขึ้นมาก”
ในส่วนกการทำงานของหมอประจำครอบครัวนั้น จะเน้นให้การดูแลทั้งครอบครัว ไม่ได้ดูแลเฉพาะเพียงตัวผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่ขยายการดูแลถึงคนในครอบครัวผู้ป่วยทุกคนด้วย หมอประจำครอบครัวนอกจากจะดูแลครอบครัวแล้ว จะต้องดูปัญหาของชุมชนด้วย จากการที่หมอประจำครอบครัวเข้าไปในพื้นที่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆในพื้นที่ จะนำมาเป็นวาระของชุมชน พิจารณาดูว่าปัญหามีความสำคัญเร่งด่วนหรือไม่ ถ้าเป็นปัญหาเร่งด่วนจะให้ชุมชนเข้ามาช่วยดูแล เช่น ชุมชนขาดคนดูแลผู้สูงอายุ จะทำอย่างไร นำไปสู่นวตกรรมหลายอย่าง เช่น ผู้สูงอายุเยี่ยมเยียนกัน หากไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน แต่จะส่งผลต่อครอบครัวและชุมชนในระยะยาว หมอประจำครอบครัวจะหาแนวทางสำหรับส่งเสริมสุขภาพสำหรับครอบครัวและชุมชนนั้นๆ
เมื่อถามถึงการทำงานในระดับปฏิบัติกับการเชื่อมโยงในระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพัฒนาบริการปฐมภูมิ โดยพัฒนา “ทีมหมอประจำครอบครัว (Family care team)” ดูแลประชาชนทุกครัวเรือนในเขตชนบท โดยแบ่งหมู่บ้านให้บุคลากร รพ.สต. และ รพช. แต่ละคนดูแลให้คำปรึกษา ดูแลถึงบ้าน และประสานการส่งต่อ โดยมีแพทย์รพช. เป็นที่ปรึกษานั้น นพ.สิริชัยให้ความเห็นว่า เป็นนโยบายที่ดีมาก แต่ที่ควรจะเน้นมาก คือเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและรพ.สต เพราะรพ.สต เป็นฐานเดิมที่มีความแน่นอยู่แล้วในการรู้จักชุมชน เข้าถึงชุมชน แต่จะมีจุดอ่อนเรื่ององค์ความรู้วิชาการ ซึ่งโรงพยาบาลจะมีความแน่นเรื่องวิชาการ แต่จะไม่แน่นในเรื่องการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตโรงพยาบาล อยากให้เน้นเรื่องการทำงานร่วมกันเสริมจุดอ่อน สร้างจุดแข็งในเรื่องนี้ และหากจะกำหนดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่หรือรพ.สต.ดูแล จากประสบการณ์พบว่า ในผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน เจ้าหน้าที่หนึ่งคนไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องอาศัยทีมงานเข้าไปช่วยดูแลในหลายๆมิติ ซึ่งหากไม่มีทีมงานเข้าไปช่วย จะดูแต่เชิงปริมาณในขณะที่คุณภาพก็ไม่ได้ สุดท้ายไม่สามารถสร้างศรัทธาให้กับประชาชนในเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างแท้จริงได้
นพ.สิริชัยให้ความเห็นต่อว่า การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของแพทย์ที่อยู่เฉพาะในรพ.นั้นไม่เพียงพอ ต้องเป็นการทำงานร่วมกัน แพทย์ต้องลงพื้นที่มากขึ้น ต้องเข้าไปเรียนรู้พื้นที่ร่วมกัน การปรึกษาโดยอยู่ในรพ. รอให้คำปรึกษาเวลามีปัญหา โดยไม่เคยเห็นพื้นที่ ไม่เห็นภาพผู้ป่วยที่ลำบาก จะไม่สามารถให้คำแนะนำที่นำไปใช้จริงได้ ไม่ทราบข้อจำกัดของผู้ป่วย การเป็นที่ปรึกษาจึงไม่เพียงพอ ต้องลงไปร่วมเป็นหนึ่งในทีมทำงานร่วมกัน
“นอกจากนั้น ต้องให้ความสำคัญเรื่องสหวิชาชีพมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ ปัญหาในชุมชนมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ต้องการความรู้จากหลากหลายสาขา เช่น แต่เดิม คนพิการ อัมพฤกษ์ ฟื้นฟูไม่ได้ผล เพราะแพทย์ พยาบาลไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก แต่เมื่อมีวิชาชีพเฉพาะในโรงพยาบาล มีนักกายภาพบำบัดลงไปในพื้นที่ ผลลัพธ์จะดีขึ้นมาก การมีนักจิตวิทยาลงไปในพื้นที่ ช่วยวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพจิตแก่ครอบครัว ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง ทำให้สุขภาพจิตของครอบครัวดีขึ้น ดังนั้นต้องเปิดกรอบให้มีวิชาชีพเฉพาะมาเติมในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขต้องลงทุนกับบุคลากรวิชาชีพเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้โรงพยาบาลชุมชนมีแต่เฉพาะวิชาชีพที่จำเป็นพื้นฐาน เช่น แพทย์ พยาบาล ต้องคิดนึงถึงสหวิชาชีพที่มีความ จำเพาะมากขึ้น เพื่อให้ลงไปแก้ปัญหาในชุมชน” นพ.สิริชัย กล่าว
- 330 views