“เป็นตะเกียงให้ความสว่างท่ามกลางความมืด ดีกว่าเป็นหลอดไฟท่ามกลางความสว่างของหลอดไฟหลายดวง อย่างน้อยก็รู้สึกภูมิใจในคุณค่าของตัวเองบ้าง”
นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ
จากคำกล่าวข้างต้นได้สะท้อนตัวตนและความเสียสละของ นพ.ซุลกิฟลี ยูโซะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคำกล่าวนี้ ผอ.รพ.ไม้แก่น ได้กล่าวไว้เมื่อครั้งที่ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2557 ในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 30 ของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ผ่านมา
นพ.ซุลกิฟลี หรือ ที่ชาวบ้านเรียกชื่อติดปากว่า "บอมอซุน" หรือ "หมอซุน" เป็นชาวปัตตานี เล่าว่า ตนเองเป็นคนปัตตานี มีบิดาเป็นอิหม่ามประจำมัสยิด มารดาเป็นแม่บ้าน จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2535 ด้วยใจที่มุ่งมั่นว่า หากเรียนจบแพทย์แล้ว จะกลับมาทำงานที่จังหวัดปัตตานี นั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ ผอ.รพ.ไม้แก่น อยู่ในพื้นที่เขตสีแดงจนถึงปัจจุบัน โดยไม่คิดจะเป็นไหน แม้ว่า อำเภอไม้แก่นจะเล็กที่สุดและไกลที่สุดของจังหวัดปัตตานี และอาจจะไม่ปลอดภัยที่สุดในสายตาคนภายนอกก็ตาม
“ในช่วง 7 ปีแรกของการทำงาน ผมเป็นแพทย์คนเดียวในโรงพยาบาล ซึ่งนั่นหมายถึงต้องทำเองเกือบทุกอย่าง แต่ผมก็มีความสุขกับการที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนไข้ ทุกวันนี้ยังออกตรวจรักษาชาวบ้านมาโดยตลอด คือเราไม่ได้เป็นหมอเพียงเพื่อตัวเอง แต่ต้องเป็นหมอของทุกคน”
การเปิดคลินิกดูเหมือนจะเป็นของคู่กันกับแพทย์บางคน แต่สำหรับ นพ.ซุลกิฟลี เลือกที่จะไม่เปิดคลินิกด้วยเหตุผลที่ว่า ในอำเภอไม้แก่นมีบางชุมชนที่เหมาะสมที่จะเปิดคลินิก แต่ที่ตนไม่เลือกที่จะเปิดคลินิกนั้นเป็นเพราะว่า เมื่ออยู่โรงพยาบาลคนไข้ก็ได้เจอตนเองเหมือนกัน หากเปิดคลินิกก็ต้องเจอเหมือนกันอีก ตนไม่อยากให้คนไข้เสียเงินเพิ่ม และเขาก็มีสิทธิรักษาที่โรงพยาบาล แล้วทำไมเราจะต้องให้เขาเสียเงินเพิ่มอีก
นอกจากนี้ นพ.ซุลกิฟลี ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ทุกวันนี้ทำงานหนักแล้ว หลังเลิกงาน จึงอยากพักผ่อน เล่นกีฬาที่ชื่นชอบ คือ ฟุตบอล ซึ่งนอกจากจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานแล้ว ยังทำให้รู้จักชาวบ้านมากขึ้นอีกด้วย โดยจะใช้สนามกีฬาของโรงเรียนเป็นที่เล่นฟุตบอลกับชาวบ้าน ทำให้ได้ทั้งการพักผ่อนและเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สีแดง มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นรายวัน ผอ.รพ.ไม้แก่น มีวิธีที่จะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมทีมด้วยกันคือ การเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยการไม่ตื่นตระหนกทุกครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรง แต่จะไม่ประมาท ทุกครั้งที่มีการเตือนจากเจ้าหน้าที่
“ช่วงนั้นเราจะงดการออกหน่วยเยี่ยมชุมชน เพื่อความปลอดภัยของคนทำงานด้วยกัน แต่ด้วยความคุ้นเคยกับชาวบ้านเป็นอย่างดี ทำให้ผมสามารถจะออกไปดื่มชาช่วงเช้ากับชาวบ้านได้เป็นประจำ ตั้งวงคุยกัน และวิธีนี้เองที่เป็นการแสดงออกถึงความไม่ตื่นกลัวจนเกินเหตุ ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไม้แก่นจะไม่ตื่นกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ”
ส่วนกรณีข่าวความขัดแย้งของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นั้น นพ.ซุลกิฟลี ได้แสดงความคิดเห็นว่า ทุกระบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป อย่างที่มี สปสช.เข้ามา ทำให้โรงพยาบาลเล็กๆ อย่างไม้แก่น ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้วยวิธีต่างๆ ที่มากขึ้นกว่าเดิมสำหรับโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่ข้อเสียก็มี เช่น เรื่องการคีย์ข้อมูลการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกัน สปสช.เองก็มีฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งตนมองว่า ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของความซับซ้อนของระบบบริการ และความคาดหวังของประชาชน หากเป็นการทำงานที่ประสานงาน จะส่งผลให้การทำงานดีขึ้น
“สำหรับที่ รพ.ไม้แก่น นั้น เรื่องของทั้งสองหน่วยงานไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อตัวแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ที่ทุกคนยังให้บริการชาวบ้านตามปกติ ยึดการให้บริการชาวบ้านอย่างแท้จริง”
อย่างไรก็ตาม นพ.ซุลกิฟลี เป็นแพทย์ที่เสียสละให้กับคนในจังหวัดปัตตานีมาโดยตลอด ซึ่งการทำงานที่หนักและมีความเครียดทั้งจากการทำงานและความรุนแรงในพื้นที่ นพ.ซุลกิฟลี มีวิธีสร้างกำลังใจให้กับตนเองได้อย่างน่าสนใจ คือ “เราต้องพยายามหาจุดที่ลงตัว ที่ตัวเองรู้สึกว่า ตัวเองทำแล้วมีความสุข หาความสุขจากการทำงาน คิดว่า เรามีคุณค่ากับคนที่นี่(ปัตตานี) เราก็อยากจะทำงานที่นี่ตลอดไป”
- 185 views