“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” พร้อม “เครือข่ายผู้ป่วย” บุกยื่นหนังสือ “รมว.สธ.” เร่งแก้ความขัดแย้งภายในระบบสาธารณสุข ยันจุดยืนคง 9 กองทุนย่อยในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ด้าน “หมอรัชตะ” ระบุ คิดต่างถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน ส่วนข้อเสนอ สธ.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของอนุกรรมการการเงินการคลัง ดร.คณิศ เป็นประธาน
30 ต.ค.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข – เมื่อเวลา 11.30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ป่วย อาทิ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยหัวใจ เครือข่ายผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ นำโดย น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วยตัวแทนประมาณ 50 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สาธารณสุข) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างการบริหารระบบกับการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพหลายเดือนที่ผ่านมา มีความไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในฐานะผู้ให้บริการ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้จัดหาบริการ โดยมีข้อเสนอ สธ.ที่ต้องการปรับการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าให้เหลือเพียง 4 ประเภท ซึ่งขัดแย้งกับมติบอร์ด สปสช.ที่ได้แยกการบริหารกองทุนเป็น 9 ประเภท เป็นการบริหารเฉพาะโรค อาทิ หัวใจ มะเร็ง ฮีโมฟีเลีย และธาลัสซีเมีย เป็นต้น เพื่อให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยของหน่วยบริการที่ไม่ต้องกังวลถึงงบค่าใช้จ่ายแล้ว และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
ทั้งนี้แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะขัดแย้งกับมติบอร์ด สปสช. แต่ได้มอบให้ สปสช.หารือร่วมกับ สธ.เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม แต่ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากไม่มีความคืบหน้าแล้ว กลับมีการรวมตัวของบุคลากร สธ.ประท้วงให้ สปสช.ปรับลดกองทุนเหลือ 4 ประเภทแทน ดังนั้นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงเห็นว่า สถานการณ์เกิดขึ้นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่ผู้บริหารกระทรวงและเป็นประธานบอร์ด สปสช.ควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างการบริหารระบบกับการให้บริการในระบบ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และต้องเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการจัดการงบประมาณได้ที่เป็นกลไกสำคัญของการมีธรรมาภิบาลของระบบ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้เครือข่ายผู้ป่วยต่างรู้สึกกังวลใจ
“ข้อเสนอกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคือการคงกองทุน 9 ประเภทไว้ ซึ่งการปรับลดกองทุนต้องมีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน หรือมีมาตรการอื่นเพื่อรองรับในการดูแลประชาชนที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว
ด้าน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า รมว.สาธารณสุข เข้ามาในช่วงที่มีความขัดแย้งสูงมาก และตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่เคยมีช่วงไหนที่มีความขัดแย้งขนาดนี้ ซึ่งหวังว่าท่านจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าหากผู้บริหารองค์กรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้ามีอคติกับอีกองค์กรหนึ่ง มีกระบวนการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งสูง เรื่องนี้ต้องฝากให้ช่วยลดความขัดแย้ง ดูว่าความขัดแย้งอยู่ที่ระบบ หรืออยู่ที่ความอคติของใคร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคงดำเนินต่อไป เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองคนไทยให้ได้รับการรักษาพยาบาล จากการดำเนินงานมากว่า 10 ปี ได้เกิดประโยชน์กับประชาชน และการพัฒนาจากนี้คือต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบมากขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ส่วนกลไกทางการเงิน โดยเฉพาะการปรับการจัดสรรงบประมาณปี 58 นั้น จากการประชุมบอร์ด สปสช.เดือน ก.ย. ไตรมาสแรกได้ขอให้กระจายงบประมาณโดยใช้รูปแบบเดิมไปก่อน ส่วนไตรมาส 2 จึงพูดคุยว่าจะมีการปรับกันอย่างไร และได้มอบให้ทางคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง สปสช. ที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้พึ่งผ่านมาได้ไม่ถึงเดือน
“ในการปรับเปลี่ยนนั้นต้องฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องทุกภาคส่วนไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง จึงต้องอยู่บนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ จะทำให้เกิดผลดีอย่างไร ยังไม่ได้ฟันธง ยังเป็นเพียงขั้นตอนพูดคุยกัน และที่มีการนำเสนอแตกต่างออกมาเห็นว่าเป็นเพียงแค่เหตุผลของบางกลุ่มบางฝ่าย ซึ่งยังต้องนำมาประมวลอีกที แต่ละคนก็มีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งนี้เรียนว่าความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องยอมรับความเห็นแตกต่าง และเป็นเรื่องปกติในสังคม เพียงแต่เราต้องบริหารความเห็นแตกต่างเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งข้อสรุปที่ดีที่สุดคือต้องนำข้อมูลมาดูกัน ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก เป็นการใช้หลักการมาดู เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ดี” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.รัชตะ ยังได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังต่อสื่อมวลชนว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องได้ข้อยุติ ขณะนี้การดำเนินการหารือเพื่อปรับกลไกทางการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เริ่มทำงานไม่เพียงกี่สัปดาห์ และเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องความเห็นที่แตกต่าง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานที่ต้องมีความคิดต่างกัน ซึ่งทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปเมื่อได้ข้อยุติแล้ว.
- 2 views