อิน-จัน เป็นชื่อของฝาแฝดที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันทั่วโลก เป็นที่มาของคำว่า “แฝดสยาม” (Siamese twin) เนื่องจากเกิดที่ประเทศสยาม (ประเทศไทย) ตามที่เรียกกันในขณะนั้น เป็นฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน และเป็นนฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

อิน-จัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่บ้านเรือนแพริมน้ำปากคลองแม่กลอง ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน บิดาชื่อนายทีอาย  เป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ประกอบอาชีพประมงและค้าขายที่ปากคลองแม่น้ำแม่กลอง ส่วนมารดาชื่อนางนก มีเชื้อสายไทย-มาเลย์     

อิน-จัน มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันรวม 9 คน โดยอิน-จัน เป็นบุตรคนที่ 5 และ 6 ของพ่อแม่ แรกเกิดอิน-จันมีร่างกายสมประกอบทุกอย่าง เพียงแต่ที่หน้าอกมีแผ่นหนังเชื่อมยึดติดกันเป็นแถบกว้างประมาณ 6 นิ้ว และมีสายสะดือเดียวกัน โดยอินจะเป็นคนที่อยู่ทางซ้ายของสายตาคนมอง ส่วนจันจะเป็นคนขวาของสายตาคนมอง การเกิดมาอย่างผิดปกติของเด็กทั้งคู่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเชื่อกันว่าเด็กแฝดตัวติดกันเป็นเสนียดจัญไร แต่บิดาและมารดาของแฝดอิน-จันได้ทำการเลี้ยงดูอิน-จันเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามปกติ ด้วยการฝึกให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่าง เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ พายเรือ

เมื่ออิน-จัน อายุได้ 8 ขวบ บิดาได้เสียชีวิตลงเนื่องจากอหิวาตกโรคในปี พ.ศ. 2362 อิน-จันจึงต้องช่วยแม่ทำงานเลี้ยงเป็ดขายไข่ ทำไข่เค็มขายและหาปลา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อิน-จันเข้าเฝ้า และใน พ.ศ. 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้อิน-จันร่วมเดินทางไปกับคณะทูตสยาม ในการไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศโคจินจีนหรือเวียดนามในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือ “นายหันแตร” ตามที่คนไทยสมัยนั้นเรียกกัน ซึ่งได้เข้ามาตั้งห้างอยู่หน้าวัดประยูรวงศ์ทราบเรื่องฝาแฝดอิน-จัน จึงได้นั่งเรือตามแม่น้ำแม่กลองเพื่อมาดูอิน-จัน และได้เห็นอิน-จันกำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ทำให้นายฮันเตอร์เกิดความคิดที่จะนำอิน-จันไปแสดงโชว์ตัวที่สหรัฐอเมริกา จึงได้เข้ามาสร้างความสนิทสนมกับครอบครัวของอิน-จัน จนแม่ของทั้งคู่เกิดความไว้วางใจ และได้อ้างกับแม่ของอิน-จันว่าจะนำทั้งคู่ไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นการแนะนำให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศสยาม  แม่ของแฝดอิน-จันจึงได้ยินยอมและได้รับเงินจำนวน 1,600 บาทเป็นค่าตอบแทน ซึ่งทางการสยามได้อนุญาตให้แฝดอิน-จัน เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปแสดงตามที่ต่างๆโดยมีกำหนด 3 ปี ตามคำขอร้องของนายฮันเตอร์และนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้า เดอะ ชาเคม (The Sachem)  เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ขณะที่อิน-จัน มีอายุได้ 18 ปี ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 138 วัน จึงถึงเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และได้ทำการแสดงเปิดตัวเป็นครั้งแรก และคำว่า “Siamese Twins” จึงได้เกิดขึ้น ก่อนที่จะออกเดินทางแสดงทั่วอเมริกาและยุโรปเป็นเวลานานถึง 10 ปี (เอกสารบางฉบับบอกว่า เริ่มต้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย)   

อิน-จันได้ไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกา โดยสัญญาที่ทำไว้กับนายฮันเตอร์และกัปตันคอฟฟินจะสิ้นสุดเมื่อทั้งคู่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ระหว่างนั้นอิน-จันได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 50 เหรียญต่อเดือน โดยมีกัปตันคอฟฟินเป็นผู้จัดการ เมื่ออิน-จันไปเปิดการแสดงที่ใดจะได้รับความสนใจอย่างมาก รวมทั้งวงการแพทย์ที่ให้ความสนใจขอตรวจร่างกาย แต่ไม่ได้ทำการสรุปว่าจะทำการผ่าตัดแยกร่างออกจากกัน เพราะเกรงว่าหากทำเช่นนั้นแล้วจะทำให้ทั้งสองถึงแก่ความตายได้ อิน-จันทำงานกับกัปตันคอฟฟินจนกระทั่งครบสัญญาในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2375 (ค.ศ. 1832) หลังจากนั้นได้แยกตัวออกจากคณะมหรสพอย่างเป็นทางการ และเปิดการแสดงอย่างอิสระ ทั่วสหรัฐฯและอังกฤษ ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจนมีฐานะร่ำรวย โดยทำรายได้ทั้งหมดประมาณ 60,000 เหรียญสหรัฐฯ

หลังจากการตระเวนแสดงในสหรัฐอเมริกานานหลายปี ใน พ.ศ. 2382 เมื่ออิน-จันมีอายุ 28 ปี ได้ซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านและทำไร่ยาสูบบนเนื้อที่ 150 เอเคอร์ ที่ตำบลแทรพฮิลล์ ในมลรัฐนอร์ท แคโรไลนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2383 อิน-จัน ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกันพร้อมใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) เพื่อให้มีสิทธิเป็นชาวอเมริกัน เพราะทางการสหรัฐฯ ไม่ยินยอมให้โอนสัญชาติหากไม่มีชื่อสกุลเป็นคริสต์ ถือได้ว่าทั้งคู่เป็นคนไทยคู่แรกที่ทำการขอโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน

เมื่ออายุได้ 31 ปี อิน-จันได้พบรักและแต่งงานพร้อมๆ กัน กับบุตรสาวของหมอสอนศาสนา โดยอินแต่งงานกับมิสซาร่า เยสท์ หรือแซลลี เยตส์ อายุ 20 ปี และจันได้แต่งงงานกับมิสอาดิเลด เยสท์ อายุ 19 ปี ซึ่งทั้งสองคู่ได้ทำพิธีแต่งงานที่โบสถ์เมธอดิสท์ ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2386 หลังแต่งงานอิน-จันได้ปลูกบ้านให้ภรรยาอยู่คนละหลัง ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งอินมีบุตร 11 คน จันมีบุตร 10 คน ไม่ปรากฏว่าบุตรคนใดมีความผิดปกติ นอกจากมีบันทึกว่า 2 คนเป็นใบ้

แม้จะมีร่างกายติดกัน แต่ทั้งสองกลับมีนิสัยที่แตกต่างกันสิ้นเชิง อินเป็นคนเรียบร้อยชอบอยู่เงียบๆ ใจเย็น และมักจะเป็นฝ่ายยินยอมอ่อนตาม แต่มีข้อเสียคือชอบเล่นไพ่ ส่วนจันเป็นคนโผงผาง ใจร้อน โมโหง่าย เป็นผู้นำ และชอบกินเหล้า  รวมทั้งมีการนับถือศาสนนิกายที่ต่างกัน โดยอินจะนับถือนิกายแบบติสต์ ส่วนจันนับถือนิกายโรมันคาทอลิค หลังจากแต่งงานหลายปีต่อมา จันกลายเป็นคนติดเหล้า ส่วนอินติดไพ่ ทั้งสองเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างไม่หยุดหย่อน บ่อยครั้งที่ทั้งสองมีความคิดที่จะผ่าตัดแยกตัวแต่ต้องล้มเลิกไปทุกครั้ง  เมื่ออิน-จัน มีอายุได้ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2414 จึงได้หยุดการแสดงโชว์ ต่อมาอิน-จันได้ป่วยเป็นอัมพาตซีกขวา อาการรุนแรงและทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 อิน-จัน ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่ออายุได้ 63 ปี ทั้งสองสิ้นใจห่างกันสองชั่วโมง โดยจันเสียชีวิตไปก่อนด้วยอาการหัวใจวาย หลังจากนั้นอินได้เสียชีวิตตามไป ศพของอิน-จันถูกฝังที่สุสานของโบสถ์ไวท์เพลนส์ เมืองเมาท์แอรี สหรัฐอเมริกา

และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อิน - จัน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน ขึ้นที่ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง สมุทรสงคราม มีการสร้างรูปหล่อแฝดสยามขนาดเท่าครึ่งของตัวจริง และอาคารโถงจัดแสดงชีวประวัติของแฝดสยามอิน-จัน “

เอกสารอ้างอิง

แฝดสยาม อิน-จัน. [Online], สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2557, จาก   http://www.vcharkarn.com/varticle/42771

อิน-จัน. [Online], สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2557, จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/อินจัน