นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน - ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชฯ เพิ่มคำนิยามใหม่ ช่วยขายยาได้กว้างขึ้น ระบุต้องต่อใบประกอบวิชาชีพฯ ทุก 5 ปี ประเมินความรู้ ชี้ช่วยรับประกันคนไข้ได้เภสัชฯ มีคุณภาพ ย้ำหากไม่ต่อใบประกอบวิชาชีพหมดสิทธิทำหน้าที่ ห้ามอยู่หน้าร้านยา ส่วนเภสัชฯ รพ.ยังทำหน้าที่ต่อได้ เหตุไม่มีกฎหมายห้าม จับตา สธ.ออกประกาศคุมหรือไม่
ภก.อภิชาติ จันทนิสร์ อดีตนักวิจัย สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารับหลักการของร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรมแล้ว ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ คำนิยามของวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีการขยายคำนิยาม ในเรื่องการปรุงยาและการจ่ายยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามที่กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนั้นๆ กำหนด นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ และการดำเนินการปรุงยาและการขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ทำให้สามารถขายยาได้กว้างกว่า
ภก.อภิชาติกล่าวว่า อีกประเด็น คือเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แต่เดิมสอบรับใบประกอบวิชาชีพฯกับสภาเภสัชกรรมเพียงครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต ก็เปลี่ยนมาเป็นต้องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพฯทุก 5 ปี เพื่อประเมินว่ายังคงมีความรู้ ได้มาตรฐานอยู่หรือไม่ เป็นการรับประกันกับคนไข้ว่า เภสัชกรที่จะ จ่ายยารักษาให้เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถจริง
ส่วนค่าธรรมเนียมต่อใบประกอบ วิชาชีพ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดฉบับละ 2,500 บาท หากเภสัชกรไม่สอบเพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพก็จะไม่สามารถทำหน้าที่วิชาชีพเภสัชกรรมตามที่กฎหมายระบุไว้ได้ ไม่สามารถเป็นเภสัชกรประจำร้านยาได้ ส่วนกลุ่มข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลนั้นก็อาจไม่ได้รับค่าวิชาชีพ รวมถึงค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข (พ.ต.ส.) เช่น การ เตรียมยาที่มีความเสี่ยง อาทิ ยามะเร็ง ยาวัณโรค เป็นต้น
"ที่ผ่านมาไม่ได้มีกฎหมายกำหนดว่าในโรงพยาบาลผู้จ่ายยาจะต้องเภสัชกรเท่านั้น เพราะคนไข้ที่มีจำนวนมากจะให้เภสัชกรจ่ายยาทุกเคสเป็นไปไม่ได้ แต่ตามมาตรฐานคือจะต้องมีเภสัชกรควบคุมการจ่ายยา คำถามคือหากเภสัชกรในโรงพยาบาลไม่สอบเพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพจะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าในทางปฏิบัติไม่น่ามีปัญหา เพราะความรู้ความสามารถมีเพียงพอในการควบคุมการจ่ายยา แต่เรื่องนี้อยู่ที่นโยบายของแต่ละหน่วยงานด้วยว่าให้ความสำคัญหรือไม่ อย่าง โรงพยาบาลสังกัด สธ. อาจต้องออกประกาศว่าเภสัชกรในโรงพยาบาลจะต้องเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพฯเท่านั้น เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับ พ.ร.บ. แต่คิดว่าเภสัชกรเหล่านี้ไม่น่ามีปัญหาในเรื่องการสอบเพื่อต่อใบประกอบวิชาชีพฯ" ภก.อภิชาติ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 27 ตุลาคม 2557
- 725 views