ไลน์บุคลากรสธ.ร้อนอีกครั้งท่ามกลางความขัดแย้ง และความเห็นต่างในสธ. เมื่อมีผู้ใช้นามว่า “แพทย์โรงพยาบาลชุมชน” ส่งข้อความตอบโต้คำให้สัมภาษณ์ของนพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ว่า คนไข้ล้นรพ.เหมือนตลาดสด เพราะสธ.ขยายบริการไม่ทัน เรียกร้องปกป้องกระทรวงสาธารณสุข ให้สธ.และสปสช.ก้าวข้ามชมรมแพทย์ชนบท เคารพสายการบังคับบัญชา แก้ปัญหารพ.ขาดสภาพคล่อง ให้สปสช.ส่งข้อมูลรายรับรายจ่ายให้ สธ.เพื่อกำกับงบ UC

19 ต.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกลุ่มไลน์บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการแชร์ข้อความของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “แพทย์โรงพยาบาลชุมชน” โดยเป็นข้อความที่คาดว่าเขียนขึ้นเพื่อตอบโต้กับข่าวจากนสพ.โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.57 ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่กล่าวว่า "ฟันธงว่า สธ.ผิด 100% สิ่งที่ควรทำคือไปปฏิรูปโรงพยาบาลทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้โรงพยาบาลต่างจังหวัดหลายแห่งอย่างกับตลาดสด คนไข้ล้นโรงพยาบาล แล้วบอกว่าเพราะรักษาฟรีทำให้คนใช้สิทธิพร่ำเพรื่อ ที่จริงเป็นเพราะโรงพยาบาลขยายบริการไม่ทันต่างหากนี่คือสิ่งที่สมควรทำ" ดูรายละเอียดข่าวได้ที่นี่

โดยชี้แจงว่า การที่รพ.ต่างจังหวัดคนไข้ล้นเหตุเพราะสธ.ขยายบริการไม่ทันนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพราะการเพิ่มของกระบวนการคัดกรองประชาชนในกลุ่มโรค NCD และการขยายบริการรักษาและส่งเสริมป้องกัน จึงทำให้คนไข้เข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ในขณะที่จำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้น และงบประมาณบัตรทองก็เพิ่มขึ้น แต่ทำไมจึงเกิดปัญหารพ.ขาดสภาพคล่อง ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนคือแพทย์โรงพยาบาลชุมชน ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่มีสประสิทธิภาพของสปสช.หรือไม่

นอกจากนั้น ยังได้เรียกร้องให้ปกป้องกระทรวงสธ. และเสนอว่า ไม่ว่าอย่างไร สธ.และสปสช.ก็ต้องทำงานด้วยกัน ดังนั้นขอเสนอให้ ก้าวข้ามชมรมแพทย์ชนบท และตระกูล ส. ให้สปสช.ส่งข้อมูลรายรับรายจ่ายการโอนงบให้ สธ.เพื่อใช้ในการกำกับงบ UC ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหารพ.ที่ขาดสภาพคล่อง และให้พูดกันตรงๆ อย่าผ่านสื่อและขอให้เคารพสายการบังคับบัญชาเพื่อความเป็นเอกภาพของระบบด้วย

มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

“โรงพยาบาลต่างจังหวัด คนไข้ล้น เหตุเพราะขยายบริการไม่ทัน เหมือน สธ. ไม่ใส่ใจขยายบริการ ต้องขอเรียนว่า
เป็นเพราะกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรของกระทรวง ทำงานในการคัดกรอง กลุ่มโรค NCD และขยายบริการการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ดี ต่างหากจึงทำให้ คนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น จากสถิติผู้มารับบริการทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ.2546 มีจำนวน 103.28 ล้านครั้งต่อปี มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากขึ้นเป็นลำดับ และข้อมูลล่าสุดเมื่อปี พศ.2555 จำนวนผู้ป่วยนอกทั้งประเทศ (รพ.รัฐ.) จำนวน 182.59 ล้านครั้งต่อปี เฉลี่ยคนไทย 1 คนใช้บริการ 3 ครั้ง/คน/ปี

จะเห็นว่าช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานี้ เพิ่มขึ้น เกือบร้อยละ 50 คราวนี้ลองมาดูงบประมาณรายหัวประชากร UC. เพิ่มจาก 1,202 บาท/หัวประชากร ในปี 2544 เป็น 2,835 บาทในปี 2557 จะเห็นว่างบเพิ่มขึ้น ประมาณ 200% เศษ เมื่อเทียบงบที่เพิ่มขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น แตกต่างกันอย่างมาก ดูแล้วงบที่เพิ่มมากกว่าจำนวนคนไข้ที่เพิ่ม รพ.น่าจะบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ แต่ตรงกันข้ามโรงพยาบาลกลับติดลบสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น มากกว่า 300 โรง ทั่วประเทศคิดเป็นร้อยละ 44 ของโรงพยาบาลทั้งประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตสภาพคล่องทางการเงิน

ซึ่งน่าจะบ่งบอกถึง ระบบการบริหารจัดการงบ UC ของ สปสช ที่ไม่สามารถกระจายไปให้สถานบริการ สธ. ได้ตามที่ขอไว้กับรัฐสภาและสำนักงบประมาณ สาเหตุอันเนื่องมาจาก ความไม่โปรงใสในการบริหารจัดการเงินทั้งระบบ จัดโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของระบบบริการ จัดตั้งกองทุน กันงบไว้ส่วนกลาง ทำให้งบไปที่สถานบริการลดลง การเรียกเงิน prepaid คืน โดยอธิบายไม่ได้ เม็ดเงินที่จ่ายลงไปให้สถานบริการ กับเม็ดเงินที่รับมาจากรัฐบาลทั้งหมด มีใครได้ทราบไหมว่า จ่ายไปเท่าไร เหลือเท่าไร เอาไปบริหารจัดการอะไรบ้าง บัญชีรับจ่ายไม่เคยเห็น กระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ทราบว่า เงินทั้งหมดจริงๆ ที่สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทั้งหมด (ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80 ของสถานพยาบาลทั่วประเทศที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข) ตรวจสอบไม่ได้ว่าที่ สปสช. ส่งให้สถานบริการสาธารณสุข กับเงินที่สถานบริการสาธรณสุขรับจริงๆ ตรงกันหรือไม่ เงินที่เรียกคืนจากการ prepaid อยู่ไหน เงินกองทุนโรคต่างๆ ที่จัดไว้ แล้วใช้ไม่หมดในแต่ละปี อยู่ไหน 

มาดูที่บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะยกตัวอย่างแพทย์ แพทย์ทั่วประเทศ มีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน เป็นแพทย์ที่ทำงานในระบบบริการโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 1 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นแพทย์ รพ.เอกชน และสถานพยาบาลเอกชน และที่เหลืออีก 1 ใน 3 เป็นแพทย์ในสังกัดกระทรวงอื่นๆ เช่น ทหาร ตำรวจ โรงเรียนแพทย์ แพทย์สายบริหาร ประกอบอาชีพส่วนตัว จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้ป่วยที่มารับบริการประมาณ 46.28 ล้านครั้ง ที่โรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลเอกชน

จากตัวเลขดังกล่าวคงเห็นชัดนะครับว่าแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข งานหนักกว่าภาคเอกชน 4.5 เท่าตัว เมื่อเห็นภาพนี้ น่าจะชัดเจนนะครับว่า ทำไมคนไข้ล้น ทำไมบุคลากรสาธารณสุข จึงเกิดปัญหาสมองไหล ผู้ปฎิบัติงานงานหนัก งบไม่พอบริหารจัดการ แล้วจะขยายบริการได้อย่างไร ขวัญกำลังใจบุคลากร จะเป็นอย่างไร นี่ใช่ไหม คือเหตุที่ต้องทำเขตบริการสุขภาพ และต้องปรับการบริหารงบ UC ของสปสช. มิเช่นนั้น ระบบการแพทย์สาธารณสุขคงต้องล้มลงอย่างแน่นอน ฟันธงครับ

ผมเองในฐานะแพทย์ที่ทำงานใน รพช. อายุราชการ 33 ปี อีก 6 ปีเกษียณอายุราชการ เป็นแพทย์ที่ทำงานให้กับประชาชนในชนบท ไม่มีกลุ่มก๊วน รักบ้านคือกระทรวงสารณสุข ได้ตอบคำถาม 3 ข้อ ของ บทสัมภาษณ์ แกนนำอาวุโสชมรมแพทย์ชนบทแล้ว เพื่อให้สังคมได้ตระหนักความจริงเสียที วันนี้ได้เห็นการทำงานที่เป็นเครือข่ายถูกการวางแผนอย่างดี ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ทั้งอาจารย์แพทย์อาวุโส คนมีชื่อเสียง กลุ่มผู้ป่วยที่อ้างว่าจะได้รับผลกระทบ ออกมาถล่มก.สธ. โดยอ้างเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน ไล่ถล่มและเผาบ้านคือกระทรวงสาธารณสุข อันเป็นที่รักของพวกเราชาวสาธารณสุข ขอเชิญพวกเราชาวสาธารณสุข ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของพวกเราเถอะครับ อย่าปล่อยให้มดมอด ชอนไช อยู่อีกเลยครับ พี่น้อง

สิ่งที่อยากเสนอให้ สปสช. กับ ก.สธ. ถึงอย่างไรก็ต้องทำงานร่วมกัน ควรวางแนวทาง ดังนี้ 

1.ก้าวข้ามชมรมแพทย์ชนบท และตระกูล ส. ออกมาทำงานให้กับประชาชน สร้างเสริมขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งงานหนักอยู่แล้ว ลดภาวะสมองไหล เชื่อมการทำงานแบบเครือข่ายสุขภาพ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

2.รายรับ/จ่ายของ สปสช. เกี่ยวกับการโอนงบให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ ควรส่งข้อมูลให้ ก.สธ เพื่อใช้ในการกำกับงบ UC ของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัด เพื่อการวางแผน ระบบบัญชีการเงินการคลัง ของสถานบริการทุกระดับ จะได้ไม่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในระยะยาว 

3.ตั้งคณะกรรมการร่วม ลงมาช่วยสถานบริการที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 300 กว่าโรง โดยอาจหางบค้างท่อที่มีอยู่ นำมาเยียวยา ไปพลางก่อน และวางแผนทางเงินระยะยาว ให้กับโรงพยาบาลเหล่านั้น 

4.พูดกันตรงๆ อย่าผ่านสื่อมวลชน และควรเคารพในสายการบังคับบัญชาของราชการ คือประสานงานผ่านหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงเท่านั้น ในเรื่องนโยบาย การประชุม หรือมากสุด ระดับเขตบริการสุขภาพ เพื่อความเป็น unity ของระบบ 

ขอขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ครับ จากแพทย์โรงพยาบาลชุมชน"