ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน “ระบบสุขภาพ” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาร้อยแปดที่ยังรอคอยการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลอภิบาลระบบ การส่งเสริมป้องกันโรค รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งล้วนแต่สัมพันธ์กับสุขภาพคนไทยกว่า 60 ล้านชีวิต ทั้งสิ้น
ตลอดระยะเวลาร่วม 1 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเพรียกหา “พิมพ์เขียว” ปฏิรูประบบสุขภาพ ทว่าเมื่อเลยล่วงเข้ามาสู่นาทีนี้-เดี๋ยวนี้ คำถามหนึ่งยังดังขึ้นอย่างซ้ำๆ
ภายใต้วาระปฏิรูปประเทศครั้งประวัติศาสตร์ “โฉมหน้า” สุขภาพไทยจะเป็นอย่างไร ?
ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ
ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะนักวิจัยคนสำคัญของโครงการ “ภาพอนาคตระบบสุขภาพ” ได้อธิบายถึงการ “คาดการณ์” หรือ scenario อนาคตระบบสุขภาพในอีก 10 ปี ข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ
ดร.สุชาต ได้จำแนกอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ภายในห้วงเวลาปี 2556-2566 เพื่อกำหนดความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบสุขภาพไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ โดยข้อหนึ่งในกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่าต้องจัดทำภาพอนาคตระบบสุขภาพ
“สวทน. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ (สช.) จึงร่วมกันกำหนดภาพอนาคตระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าขึ้นมา” อาจารย์สุชาต อธิบาย
สำหรับกระบวนการดังกล่าว เริ่มจากการดึงเอาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันระดมสมองว่า ภาพอนาคตในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพของไทย และอะไรคือความท้าทาย อะไรคือแรงผลักดัน และอะไรคืออุปสรรค ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน คือสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเมือง
สามารถฉายเป็น 3 ภาพใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันออกไป
ภาพอนาคตแรก ได้แก่ “ราษฎร์-รัฐร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ ร่วมผลักดันระบบสุขภาพ” คือภาพ “โลกสวย” ที่ทุกคนเห็นตรงกันและต้องทำให้ไปถึงเป้าหมาย นั่นคือประชาชนมีระบบสุขภาพเข้มแข็ง
“จากเดิมที่มีการแยก 3 กองทุนสุขภาพ ก็จะนำไปสู่ระบบประกันสุขภาพภายใต้ระบบเดียว และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริง เท่าเทียมกันทั่วประเทศภายใต้การเมืองที่มีเสถียรภาพ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นประสบความสำเร็จ ให้ชุมชนเป็นเจ้าของระบบสุขภาพอย่างแท้จริง” ดร.สุชาต กล่าว
ส่วนภาพที่สอง ซึ่งนับเป็นด้านลบอย่างแท้จริง คือภาพอนาคต “ระบบสุขภาพของใครของมัน ดั่งฝันที่ไกลเกินเอื้อม” โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าระบบสุขภาพจะยังตกอยู่ภายใต้ปัญหาเดิมๆ คือการคอรัปชั่น โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป รวมไปถึงปัญหาด้านการจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำที่ยังคงขยายตัวออกในแนวกว้าง
“ที่สำคัญคืออำนาจยังคงอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว ทำให้ระบบสุขภาพถอยหลังลงคลอง จากระบบการเงินการคลังเกิดวิกฤต ประกอบกับค่าตอบแทนบุคลากรในระบบสุขภาพมีสัดส่วนมากขึ้น ทำให้บุคลากรย้ายไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งภาคเอกชนก็มุ่งเน้นให้บริการชาวต่างชาติและผู้มีฐานะเท่านั้น ทำให้คนไทยเช้าถึงยาและเทคโนโลยีอย่างยากลำบาก” นักวิชาการรายนี้ให้ภาพชวนหดหู่
สำหรับภาพที่สาม คือ “ในเงามือที่ทาทาบ ระบบสุขภาพยังยืนหยัด” ซึ่งพูดถึงภาพอนาคตที่แม้จะเกิดปัญหาได้มาก ทั้งสารเคมี อาหารแพง ภัยธรรมชาติ แย่งชิงทรัพยากร ฯลฯ แต่การปฏิรูปยังคงเกิดขึ้นจากการที่ภาคประชาชนบีบให้รัฐต้องปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพร่วมกันอย่างทุ่มเท เพื่อคุณภาพชีวิต เน้นการกระจายอำนาจ ประชาชนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางในพื้นที่ เพื่อสร้างระบบธรรมาภิบาลเรื่องสุขภาพต่อไป
“ทั้งหมดนี้ เราไม่ได้ต้องการให้เลือกภาพใดภาพหนึ่ง แต่การทำอะไรบางอย่างมันนำไปสู่ผลลัพธ์อีกอย่างเสมอ ซึ่งภาพจำลองเหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่าหากปล่อยให้ระบบทุกอย่างไปตามยถากรรม ก็จะเข้าสู่ความยุ่งเหยิง” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสังคม สวทน.ขมวดประเด็น
“ฉะนั้น” เขาเว้นจังหวะแล้วกล่าวต่อ อาจต้องเพิ่มส่วนประกอบภายใต้กรอบ 4G’s คือต้องมีระบบอภิบาล (Governance) เพื่อใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์ การรวมกันเป็นหนึ่ง (Glomeration) ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ การเติบโต (Growth) ด้วยการขยายหลักการไปยังทุกภาคส่วน และความเอื้ออาทร (Generosity) ในทุกสถานะสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป เพื่อให้คุณภาพของระบบสุขภาพอีกสิบปีข้างหน้าดีขึ้น
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์
ขณะที่ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) วิพากษ์ว่า แน่นอนว่าในอนาคตสังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะมีอายุยืนมากขึ้น โดยคำว่า “อายุยืน” นั้นมีหลายแบบทั้งอายุยืนแบบสุขภาพดีและอายุยืนแบบมีโรคเต็มตัว
ทั้งนี้ หากนำมาคำนวณจะพบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ พฤติกรรม สถานการณ์ด้านสุขภาพ กระบวนการรักษา เทคโนโลยี ตัวระบบ และการให้บริการ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปรวมไปถึงค่าแรงด้วย
“เรามักจะกลัวว่าอายุมากขึ้นแล้วค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น ซึ่งจริง แต่สถิติทั่วโลกและข้อมูลของประเทศไทยพบว่าค่าใช้จ่าย “ก่อนตาย”หรือก่อนจะเสียชีวิต 1-2 ปี นั้นสูงกว่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายเมื่อเป็นผู้สูงอายุนั้นลดลง 1-2% ต่อจีดีพี ปัญหาจริงๆ จึงไม่ได้อยู่ที่ผู้สูงอายุ แต่อยู่ที่เราดูแลผู้สูงอายุอย่างไร หรือดูแลคนก่อนตายอย่างไร” นพ.ถาวร อ้างสถิติเร้าให้คิดตาม
ผู้อำนวยการ สวปก. กล่าวต่อไปว่า ตัวเลขล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า คนอายุ 60 ปีในปัจจุบัน แข็งแรงกว่าคนอายุ 60 ในอดีตมาก โดยในผู้สูงอายุที่อายุยังน้อยจะเป็นโรคน้อยลง แต่จะชะลอโรคไว้ทีหลังจนทำให้ค่าใช้จ่ายจะถอยไปที่คนอายุมากขึ้น ที่น่ากังวลก็คือในขณะนี้ค่าแรงของบุคลากรทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายเพื่อใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่รัฐบาลต้องหามาอุดหนุนเพิ่มขึ้นมาก
“เรากำหนดอนาคตไทยได้เป็น 3 ระดับ เรียกว่า 1.เศรษฐกิจติดหล่ม คือโตสักประมาณ 3% หรือเท่ากับขณะนี้ 2.โตตามศักยภาพ หรือ 5% 3.อาจจะโตได้ถึง 10% ซึ่งหากจัดการตัวเองดีมาก เราเชื่อว่าจะไปได้ถึง 10-20% เพราะการศึกษาเฉลี่ยจะสูงขึ้น” นพ.ถาวร กล่าว และอธิบายต่อไปว่า ประเทศไทยจะรับมือผู้สูงอายุได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจขยายตัวมากขนาดไหน หากต่ำกว่า 3% จะมีปัญหา แต่ถ้าสูงประมาณ 5% ก็จะไม่มีปัญหา
“ป่วยบ้างไม่เป็นไร แต่แน่นอนรัฐบาลต้องเตรียมเงินมากขึ้น และหลังจากนี้อาจต้องมีกระบวนการคิดว่าจะปฏิรูประบบสุขภาพอย่างไร ทั้งเรื่องระบบภาษี หรือเรื่องการร่วมจ่าย คือต้องมีเงินเข้าระบบมากขึ้น ถ้าเศรษฐกิจโต 5% อย่างที่คาด เราน่าจะหาเงินเข้าระบบได้พอ แต่ถ้าต่ำมากก็คงต้องมาคิดกันว่ารัฐบาลจะหาเงินเข้าสู่ระบบสุขภาพให้มากขึ้นอย่างไร” นพ.ถาวร ชี้ให้เห็นว่าที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพ-สังคมผู้สูงวัย ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและงบประมาณอย่างแท้จริง
คำถามคือ ประเทศไทยจะเตรียมการอย่างไร เพื่อตั้งรับสังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบในปี 2568 ซึ่งจะมีประชากรสูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
เพราะในจำนวนนี้ จะมีผู้สูงอายุติดเตียงและอยู่ในภาวะพึ่งพิงประมาณ 1 ล้านราย
- 898 views