พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาล
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประสบความทุกข์ ความวิปโยคใหญ่หลวง ด้วยพระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ถึง 6 พระองค์ การสูญเสียพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ในเวลาติดต่อกันนั้น ทำให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพระสุขภาพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ายิ่งนัก ทรงเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อพระชนม์ชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เสด็จประพาสและประทับพักฟื้น ณ พระตำหนัก ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่และโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักพระราชทานใน พ.ศ.2441 และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ในที่ตำบลนี้ และก็ได้ผลตามพระราชประสงค์ คือ พระอาการประชวรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้ทุเลาดีขึ้น
ในครั้งนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ซึ่งออกไปอำนวยการบริษัทป่าไม้อยู่ที่ศรีราชา ได้รับพระบรมราชโองการให้ช่วยเป็นผู้อภิบาลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงได้ดำริจัดสร้างเรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหลังหนึ่งที่ชายทะเลตรงเนื้อที่ของท่านห่างจากที่หาดทรายลงไปประมาณ 40 เมตร เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเชิญเสด็จจากตำบลบางพระมาประทับที่ตำหนักศรีราชานี้เมื่อ พ.ศ. 2442 และได้ประทับอยู่เกือบ 1 ปี พระอาการประชวรก็ทรงพระทุเลาขึ้นเป็นลำดับ และทรงพอพระทัยที่จะประทับอยู่ในตำบลนี้อีกต่อไปเป็นเวลานาน แต่พระตำหนักที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจัดถวายนั้นคับแคบและอยู่ในน้ำไม่ถาวรแข็งแรง จึงทรงพระดำริเลือกหาพื้นที่ดินบนฝั่งตำบลศรีราชา สำหรับสร้างพระตำหนักเป็นที่ประทับต่อไป
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และพระยาอมรศาสตร์ประสิทธิ์ ได้ตกลงเห็นพร้อมกันว่าบริเวณเนินเขาชายทะเลด้านทิศใต้ของพระตำหนักที่ประทับอยู่ขณะนั้น เป็นพื้นที่สูงเหมาะกับที่จะสร้างที่ประทับ จึงถวายความเห็นนี้แด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่นี้เป็นที่พอพระทัย จึงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดสร้างพระตำหนักใหญ่ 3 ชั้นขึ้นหลังหนึ่ง บนเนินเขาสำหรับเป็นที่ประทับ และเรือนหลังย่อมๆอีก 4-5 หลัง บริเวณเนินเขา สำหรับเป็นที่อยู่ของข้าหลวงและมหาดเล็ก นอกเนินเขาออกไปโดยรอบก็มีตำหนักเจ้านาย และที่พักข้าราชการที่ตามเสด็จออกประจำในหน้าที่ราชการอีกหลายหลัง เมื่อแล้วเสร็จสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จขึ้นประทับตำหนักใหม่นี้ใน พ.ศ.2447 แล้วใช้เป็นที่สำหรับแปรพระราชฐานจากพระนครเสด็จมาประทับที่ตำหนักนี้หลายครั้งหลายคราว นับเป็นเวลาประมาณ 3 ปีเศษจึงมิได้เสด็จไปประทับอีกเลย
ที่มาของการเป็นโรงพยาบาล
ในขณะที่ประทับอยู่ที่ศรีราชานั้น ได้มีข้าราชบริพาร และเจ้าหน้าที่ประจำการรักษาพระองค์เป็นจำนวนมาก ทั้งข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ย่อมมีการป่วยไข้เป็นธรรมดา ราษฎรตำบลศรีราชาเองและบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีการเจ็บป่วยกันมาก แต่ตำบลนี้อยู่ห่างไกลแพทย์ และเครื่องอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งมีพระทัยเต็มไปด้วยการกุศลสาธารณะ จึงได้ทรงดำริว่า “ประชาชนย่อมมีความเดือดร้อนทุกข์ทรมานจากการเจ็บไข้นั้น ถ้าได้มีสถานที่พยาบาลคนเจ็บไข้ขึ้นในตำบลนี้ นอกจากจะได้ใช้เป็นที่รักษาพยาบาลข้าราชบริพารและผู้ที่ตามเสด็จนั้นแล้ว ยังจะเป็นสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงได้พึ่งพาอาศัยในยามเจ็บไข้ ซึ่งเป็นสาธารณกุศล และเป็นการช่วยชาติบ้านเมืองอีกส่วนหนึ่ง”
จึงได้รับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์ และ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี คิดจัดการในเรื่องนี้ตามพระประสงค์ มีพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช. อาดัมสัน) เป็นผู้ช่วยในการวางแผนผังการก่อสร้าง และได้ตกลงเลือกเอาที่ในน้ำชายทะเลตรงหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากพระตำหนักที่ประทับประมาณ 160 เมตร เป็นที่ปลูกสร้างโรงพยาบาล การปลูกสร้างได้เริ่มใน พ.ศ. 2444 เบื้องต้นสร้างเป็นเรือน 2 ชั้นขึ้นก่อน 1 หลัง แล้วเพิ่มขึ้นอีก 4 หลัง ติดต่อเป็นหมู่เดียวกันไป เรือนนี้เป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2445
ในขณะนั้นสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประทับอยู่กรุงเทพฯ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ เสด็จประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2445 ซึ่งเป็นวันบำเพ็ญกุศลวันประสูติของพระองค์ และได้เริ่มรับคนเจ็บไข้เข้าพำนักอาศัยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เมื่อแรกเรียกชื่อว่า “โรงพยาบาลศรีมหาราชา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” เป็นสิริมงคลนับแต่นั้นมา
ย้ายจากพื้นน้ำสู่พื้นดิน
เมื่อวันเวลาผ่านไป สถานที่ของโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นในน้ำชำรุดทรุดโทรมมากเป็นที่น่ากลัวอันตรายแก่คนเจ็บไข้ในยามที่มีพายุและคลื่นลมทะเล ถึงจะซ่อมแซมก็ไม่ถาวรไปได้นานต้องชำรุดซ่อมแซมกันอีกไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นเรือนไม้อยู่ในน้ำถูกเพรียงทะเลเกาะกินเสาอยู่เสมอ นายบัวหรือขุนปราณเขตต์นครซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงพยาบาล กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อขอย้ายโรงพยาบาลขึ้นไปตั้งบนบกทางด้านเหนือเขาพระตำหนัก (คือที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบันนี้) พระองค์ทรงเห็นชอบด้วยและได้พระราชทานเงินเป็นค่าก่อสร้างในการย้ายนี้ประมาณสองหมื่นบาทเศษ
เมื่อย้ายโรงพยาบาลจากในทะเลมาก่อสร้างบนบก ในปี พ.ศ.2451 ครั้งแรกจัดสร้างเรือนไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น 1 หลัง ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเนินเขาพระตำหนัก สำหรับเป็นที่ทำการตรวจโรค และ ชั้นบนเป็นที่ทำการ เรือนไม้สำหรับผู้ป่วย 2 หลัง สำหรับรับผู้ป่วย หลังละประมาณ 5 คน เรือนไม้ยาวชั้นเดียวยกพื้น 1 หลัง สำหรับเป็นที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ และ บ้านพักแพทย์ผู้ปกครองโรงพยาบาล 1 หลัง อยู่บริเวณหน้าเรือนพักผู้ป่วย รวมเป็น 5 หลัง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ย้ายคนเจ็บไข้จากเรือนในน้ำมาอยู่ในที่นี้เมื่อ พ.ศ. 2452 ส่วนเรือนโรงของเก่าที่อยู่ในน้ำชายทะเลก็รื้อมาดัดแปลงเป็นเรือนให้คนเช่าพักตากอากาศบ้าง เป็นที่อยู่แพทย์ ผู้พยาบาล และ คนงานบ้าง เป็นโรงครัวบ้างจนหมดตัวไม้ที่รื้อมา และหม่อมเจ้าหญิงไขศรี ปราโมช ณ อยุธยา ได้สร้างเรือนชายทะเลพร้อมทั้งศาลาท่าน้ำขึ้น 1 หลัง เป็นการอุทิศกุศล เนื่องแต่การพระราชทานเพลิงศพหม่อมสาย ปราโมช ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหม่อมมารดาของพระองค์ท่านเมื่อ พ.ศ.2457 ใช้สำหรับรับรักษาผู้ป่วยพักฟื้น หรือ ผู้ป่วยเรื้อรัง
ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล ทั้งเงินค่าก่อสร้าง ค่าซ่อมแซม และ ค่าใช้สอยประจำโรงพยาบาล คือ ค่าเวชภัณฑ์ ค่าครุภัณฑ์ ค่าอาหารเลี้ยงคนเจ็บไข้ ตลอดจนเงินเดือนแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆเป็นเงินส่วนพระองค์ทั้งสิ้น และได้พระราชทานตลอดมาทุกปี เป็นเงินประมาณราวปีละ 15,000 บาท ภายหลังได้เพิ่มเป็น 20,000 บาท ตลอดพระชนมายุ ต่อจากนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานเงินส่วนนี้เสมอมาทุกปี
โรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชา ในชั้นแรกทรงฝากการปกครองไว้กับ โรงพยาบาลศิริราช ครั้นถึงพ.ศ.2461 ได้โปรดเกล้าฯมอบโรงพยาบาลนี้ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการ ในความดูแลของกระทรวงธรรมการ จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2471 จึงโปรดเกล้าฯให้โอนโรงพยาบาลจากกระทรวงธรรมการไปสังกัดสภากาชาดไทยตั้งแต่นั้นมา โรงพยาบาลสมเด็จฯ ณ ศรีราชาเป็นหน่วยงานหนึ่ง ในสภากาชาดไทย ซึ่งเริ่มจากเรือนในทะเล ทั้งที่ดินอาคาร สมเด็จฯพระราชทานให้เป็นโรงพยาบาลนี้ทั้งสิ้น พร้อมด้วยพระราชทรัพย์อีกจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ได้ดำเนินการสร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในปี พ.ศ.2514 และมีการก่อสร้างอาคารในโรงพยาบาลโดยได้รับพระราชทานชื่ออาคารตามพระนามของสมเด็จฯ ไว้จนครบ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา (พ.ศ.2475) ตึกสว่างวัฒนา (พ.ศ.2505) ตึกศรีสวรินทิรา (พ.ศ.2508) ตึกบรมราชเทวี (พ.ศ.2511) ตึกอัยิกาเจ้า (พ.ศ.2513) และตึกศรีสมเด็จ (พ.ศ.2521) ส่วนชื่อโรงพยาบาลได้เปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา" ตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา
- 529 views