“นิมิตร์” บอร์ดสปสช.ห่วงเกิดกองทุนสุขภาพแตกย่อยขึ้นมาก นอกจากกองทุนหลัก 3 กองทุน ข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ยังมีกองทุนอปท. และขณะนี้กำลังจะมีกองทุนพนักงานมหาลัย โดยมีสปสช.บริหารกองทุนให้ แต่ขั้นตอนใช้บริการต่างจากบัตรทอง กังวลอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพมากขึ้นอีก ชี้ไม่ได้คัดค้าน แต่ขอให้ทุกกองทุนมีสิทธิพื้นฐานเหมือนกัน ส่วนกองทุนไหนจะมีเพิ่มเติมก็ให้ on top ไป ห่วงท้ายที่สุดบัตรทองจะกลายเป็นกองทุนคนจน จี้คกก.ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนที่อัมมารเป็นประธานประชุมแก้ปัญหาเรื่องนี้ด่วน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

5 ต.ค.57 นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงในเรื่องการเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมในการบริการสุขภาพของคนไทย เนื่องจากตามภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะต้องสร้างความเท่าเทียมให้แก่คนไทย 49 ล้านคนให้ได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ไม่แตกต่างกัน แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้กองทุนต่างๆ มีมากขึ้น นอกเหนือจากกองทุนหลักๆ อย่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ยังมีกองทุนสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพข้าราชการ/พนักงานท้องถิ่น ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) อีก และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการกองทุนสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีสปสช.ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน

“การมีกองทุนต่างๆ ดีในแง่คนในกองทุนได้รับสิทธิประโยชน์ดียิ่งขึ้น อย่างพนักงานมหาวิทยาลัย ก็น่าเห็นใจตรงนี้เมื่อถูกออกนอกระบบ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนสิทธิข้าราชการเดิม แต่ต้องไปอยู่ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งยังมีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งอัตราเพดานค่ารักษา เป็นต้น จึงมีการประสานขอให้สปสช.ช่วยบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้คัดค้าน แต่อยากให้สปสช. บริหารจัดการในรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากคนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง โดยการรักษาจะต้องมีพื้นฐานที่เท่ากันหมด กล่าวคือ สิทธิบัตรทองได้อย่างไร สิทธิอื่นควรได้อย่างนั้น เพียงแต่จะมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมก็ให้ไปจ่ายเพิ่ม หรือที่เรียกว่า On Top กันไป เช่น ห้องพิเศษ หรือการตรวจเพิ่มเติม จึงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง ไม่เช่นนั้นกลายเป็นว่าไม่มีใครอยากใช้สิทธิบัตรทอง เพราะมองว่าเป็นสิทธิรักษาของคนส่วนใหญ่ และเป็นสิทธิของคนจน” นายนิมิตร์ กล่าว
 
กรรมการสปสช. กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วในเรื่องของการบูรณาการสามกองทุน และการทำให้กองทุนอื่นๆ ได้มีสิทธิการรักษาพื้นฐานที่เท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ  แต่การจะเดินตามประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่แม้จะมีหลายกองทุน แต่รวมเป็นหนึ่งโดยมีผู้บริหารเพียงสำนักงานเดียว ขณะที่ไทยทำได้ยาก เพราะมีความเห็นต่างมาก อย่างไรก็ตาม จริงๆ ไทยไม่จำเป็นต้องรวมสามกองทุนมาเป็นหนึ่งเดียวตอนนี้ แต่ให้เป็นการบริหารเพียงจุดเดียวจะดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้คงต้องฝากให้ทางคณะกรรมการประสานระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่มี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธาน โดยรัฐบาลชุดนี้เป็นผู้แต่งตั้งเดินหน้าเรื่องดังกล่าว โดยอาจมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดีกว่าให้มีกองทุนสุขภาพจำนวนมากมาย แต่การบริหารแยกกัน ซึ่งสุดท้ายสิทธิประโยชน์ การรับบริการก็แตกต่างกัน สร้างความเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น