มติชน -ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพนักงานมหาวิทยาลัยร้องขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนสุขภาพสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยเกือบ 130,000 คน แทนการได้รับสิทธิประกันสังคม โดยพนักงานมหาวิทยาลัย นำโดยศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐร่วมกับ สปสช. และทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประชุมหารือถึงแนวโน้มในการดำเนินการตั้งกองทุนเฉพาะขึ้น และขอให้ สปสช.เป็นผู้ดำเนินการ แต่ สกอ.ต้องเห็นชอบก่อน ล่าสุด สกอ.ได้ทำหนังสือถึง สปสช.เพื่อต้องการการยืนยันด้านข้อมูลเรื่องการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาช่วงเดือนตุลาคม 2557 นี้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สกอ.ได้ทำหนังสือสอบถามมายัง สปสช. เพื่อขอข้อมูลถึงแนวทางการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพแก่พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่ง สปสช.ได้ตอบกลับไปก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถดำเนินการได้ โดยยึดหลักเหมือนการบริหารกองทุนสวัสดิการสุขภาพแก่พนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งครอบครัวของผู้มีสิทธิกว่า 7 แสนคน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว ดังนั้น ในการดำเนินการสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพแก่พนักงานมหาวิทยาลัยก็จะสามารถดำเนินการได้ ผ่านการออกพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น คาดว่าต้องใช้งบในการบริหารกองทุน 210.3 ล้านบาท

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า พนักงานมหาวิทยาลัยหวังว่า ทางรัฐบาลจะอนุมัติเห็นชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากประสบความสำเร็จนอกจากจะสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีความสะดวกสบายในระบบจ่ายตรงซึ่งคล้าย กับระบบราชการเดิมที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้ออกนอกระบบราชการมา

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 ตุลาคม 2557