รณรงค์ "ทวงสิทธิ์ห้ามสูบ" สถานีขนส่งผู้โดยสาร รถสาธารณะทั่วประเทศ หลังพบฝ่าฝืนสูบในที่ห้ามเพียบ เกือบครึ่งไม่ทราบกฎหมาย เตรียมติดป้ายทั้งบนรถและสถานีขนส่งทั่วประเทศ เตือนสิงห์อมควันเคารพสิทธิผู้อื่น
       
30 ก.ย.ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)และผู้แทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ “สถานีขนส่งผู้โดยสาร และรถโดยสารสาธารณะปลอดบุหรี่”พร้อมมอบสื่อสติกเกอร์และป้ายถาวร“ขอบคุณที่ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย” เพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยจากควันบุหรี่มือสอง เคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ในงานมีผู้ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองร่วมสะท้อนผลกระทบด้วย
       
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางบก บขส. ขสมก.และสสส. เพื่อสนับสนุนให้สถานีขนส่งผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ ติดป้ายประกาศ เขตปลอดบุหรี่ เพื่อกำหนดขอบเขตความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ100% ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ส่วนการกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่จะต้องจัดไว้นอกอาคาร และไม่ให้อยู่ใกล้ทางเข้าออกอาคาร หรือบริเวณที่มีคนผ่านไปมา บทลงโทษผู้ละเมิด มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วน ผู้ประกอบการที่ไม่จัดสถานที่ปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม การติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ทั้งสติกเกอร์หรือป้ายจะเป็นปัจจัยให้ผู้ที่ต้องการเลิกสูบทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีสถานที่สูบจำกัด
       
“จากข้อมูลการลงพื้นที่ของภาคีเครือข่าย พบว่า ปัญหาการสูบบุหรี่บนรถโดยสารสาธารณะลดลงไปมาก มีเพียงส่วนน้อยที่ยังพบเห็นอยู่บ้างอาทิ รถสองแถวเล็ก หรือรถโดยสารในท้องถิ่น และจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ต่อการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามตามกฎหมาย ช่วงต้นเดือนสิงหาคม2557ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,100 ตัวอย่าง พบว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ47ยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานีขนส่งผู้โดยสาร และบริเวณที่พบการสูบบุหรี่ร้อยละ19.28 พบหน้าร้านสะดวกซื้อร้านขายของชำในสถานี ร้อยละ16.84 % พบในห้องน้ำ ร้อยละ14.57 ลานจอดรถ และร้อยละ11.31พบในสวนหย่อม โดยพบเห็นการสูบในสถานที่ที่สถานีขนส่งจัดไว้ให้เป็นการเฉพาะเพียงร้อยละ21.71เท่านั้น” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
       
นายจิรุตม์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานีขนส่งผู้โดยสาร และรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ มีรถโดยสารที่จดทะเบียนแล้ว139,847 คัน แยกเป็นประจำทาง87,514คัน ไม่ประจำทาง40,843 คัน และรถส่วนบุคคล11,490 คัน มีสถานีขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งขสมก.และสถานีเดินรถบขส.เกือบ200 แห่งทั่วประเทศ ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะกรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศเรื่องกำหนดแสดงเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่พ.ศ.2554 ให้รถโดยสารทุกคันต้องติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่และข้อความฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5,000 บาทไว้บนรถโดยสารสาธารณะทุกคัน
       
“การผลิตสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ กว่าสามแสนชิ้นได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และได้ส่งมอบให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันติดสติกเกอร์ตามกฎหมาย ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสาร ก็ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เป็นป้ายถาวร จำนวนกว่า 600 แผ่นและสติกเกอร์ 10,000 ชิ้น และได้จัดส่งให้กับสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้งบขส.และขสมก.แล้วเช่นเดียวกัน หวังว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์คุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญผู้มาใช้บริการในสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกแห่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ พ่อค้าแม่ค้า ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดการเคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่” นายจิรุตม์ กล่าว