มติชน -การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ที่ฮือฮาเมื่อเร็วๆ นี้ คงหนีไม่พ้นกรณีที่ "อาจารย์สุกรี เจริญสุข" คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ใช้ "ปี๊บคลุมหัว" เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน นั่งควบ 2 ตำแหน่ง ทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสถานะ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" และ "ข้าราชการการเมือง" ในคราวเดียวกัน
"อาจารย์สุกรี" บอกเหตุผลถึงการกระทำดังกล่าวว่า "เกิดจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเป็นสามัญสำนึกเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกว่า ผิดคือผิด ถูกคือถูก มันไม่ใช่เพียงความรู้สึกตื้นๆ แต่เป็นความรู้สึกถึงอดีต คิดถึงอนาคต อดีตคือความรู้ความเข้าใจ อนาคตคือจินตนาการ ความฝัน การหยั่งรู้ เหล่านี้ตกผลึกเป็นสามัญสำนึก"
หลายคนจับตามองว่าเหตุการณ์นี้มีประเด็นทางการเมือง หรือมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร บางคนสงสัยว่าทั้งสองคน "ไม่กินเส้นกัน" หรือเปล่า แต่ "อาจารย์สุกรี" เคยยืนยันแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากเรื่องส่วนตัวระหว่างคนสองคน แต่เป็นเรื่อง "ไม่กินเส้นกัน" เฉพาะงานนี้เท่านั้น"ใครเป็นเจ้านาย ผมเคารพทั้งนั้น แต่ผมเป็นคนเถียงได้ มีเหตุมีผลในการแสดงความคิดเห็น ผมต้องการทำงาน ไม่ได้ต้องการทะเลาะกับใคร ไม่ต้องการสร้างปัญหาหรือเป็นภาระ และไม่ต้องการเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ผมมาที่มหาวิทยาลัยมหิดลเพราะต้องการทำงาน บอกกับน้องๆ ทุกคนที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ว่า ต้องการคุณมาทำงาน ถ้าสร้างปัญหาไม่เอา รับไม่ได้ที่คนอยู่ในตำแหน่งขาดสามัญสำนึก" อาจารย์สุกรีชี้แจง
อย่างไรก็ตาม ด้านคู่กรณี "นพ.รัชตะ" กลับไม่ให้ความสนใจที่ "อาจารย์สุกรี" นำปี๊บมาคลุมหัวเพื่อประท้วง
ล่าสุด ยังยืนยันที่จะนั่งควบ 2 ตำแหน่ง โดยประกาศว่าจะทุ่มเทตั้งใจทำงานทั้ง 2 องค์กรอย่างเต็มที่ และจะนัดหมายชี้แจงกับประชาคมของมหิดลต่อไป
เมื่อ "อาจารย์สุกรี" ทราบว่า "นพ.รัชตะ" ยืนยันจะนั่งควบ 2 เก้าอี้ต่อไป จึงออกประกาศอีกครั้งว่า "วันที่ 17 กันยายนนี้จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ผมเองก็เข้าประชุมด้วย และจะนำ 'ปี๊บคลุมหัว' เข้าประชุมอีกครั้ง คราวที่แล้วประชุมคณบดี ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกคณะในมหาวิทยาลัยมหิดล มีท่านอธิการบดีเป็นประธาน เป็นการประชุมการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัย
ส่วนวันที่ 17 กันยายนนี้เป็นการประชุมนโยบายโดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสภา เป็นตัวแทน 1 ใน 5 จากฝ่ายบริหาร ซึ่งประธานสภามหาลัยมหิดลก็คือ นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขด้วย"
"คงจะไม่ยื่นจดหมายเปิดผนึก คนอื่นยื่นไปเยอะแยะหลายคน ผมให้ปี๊บพูดแทน เพราะพูดด้วยภาษาอื่นๆ ผมไม่เชื่อว่าจะได้ผล หน้าที่ผมมีแค่นี้ ผมทำในมหาวิทยาลัย คิดว่าถ้าทำถึงขนาดนั้นแล้ว คนไทยคนอื่นๆ ที่รักความเป็นธรรมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ถูกต้อง ผมคิดว่าผมก็ยอมจำนน นี่เป็นหน้าที่ของสังคม ของสื่อมวลชน" อาจารย์สุกรีอธิบาย
"ดูประเทศที่เจริญแล้วทั้งในยุโรป อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้น ประชาชนคนทั่วไป คนที่รักความเป็นธรรม รักสามัญสำนึก เขาจะตามมาเป็นพรวนเลยนะ ส่วนสังคมไทยผมทำแบบนี้ก็มีคนออกมาไล่กระทืบผม ผมว่านี่คือดัชนีบ่งชี้ว่าประเทศไทยเจริญ หรือไม่เจริญ มีคนเห็นด้วยกับผมนะ ปรบมือในใจ แต่ว่าปรบมือให้ผมทำต่อๆ จนในที่สุดผมตายคาที่ ผมว่าสังคมไทยเขาควรจะมีภาระหน้าที่ทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ผม แต่ผมทำถึงขนาดนี้แล้วยังไม่มีใคร มัวแต่นั่งปรบมือในหัวใจ ผมก็ว่าช่างมัน" อาจารย์สุกรีบ่นถึงสังคมไทยที่มักจะนิ่งเฉย
"การประชุมคณบดีผมก็ไปนั่งต่อ ถ้าผมยังอยู่ในตำแหน่ง ประชุมสภามหาวิทยาลัยผมก็ทำต่อ เพราะคิดว่านี่เป็นศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัย ศักดิ์ศรีของนักวิชาการ และศักดิ์ศรีของพื้นที่มหาวิทยาลัยที่จะต้องแสดงความเป็นอิสระ เพราะเมื่อเราเห็นว่าไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ควรจะถูกต้อง เราสอนหนังสือ เราเป็นครู แล้วคุณปล่อยให้ครูกับหมอเป็นอย่างนี้เหรอ แล้วต่อไปคุณจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากใคร ผมตัวคนเดียว ทำคนเดียวในบทบาทหน้าที่ของผม คุณแพ้ต่อคุณงามความดีเหรอ ทำไมคนทำชั่วได้รับการสรรเสริญมากนักหนา แล้วคนที่ทำดีต้องตายหยังเขียดอย่างนั้นเหรอ ผมว่าโหดร้ายนะ" อาจารย์สุกรียืนยันถึงศักดิ์ศรีและความถูกต้อง
แต่เหมือนการกระทำและเสียงบ่นของ "อาจารย์สุกรี" ไม่ได้เงียบหายไปไหน เพราะวันที่ 17 กันยายนนี้ "ประชาคมมหิดล" จะแต่งดำร่วมประท้วงกับ "อาจารย์สุกรี" ด้วย
--มติชน ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 4 views