เปิดนโยบายด้านสาธารณสุข รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ให้ระบบประกันสุขภาพครอบคลุมประชาชนเท่าเทียม สร้างกลไกจัดการสุขภาพระดับเขต เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคระบาด แก้ปัญแม่วัยุร่น กำกับปัญหาอุ้มบุญ ปลูกถ่ายอวัยวะ และสเต็มเซลล์

ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น จากนโยบายทั้งหมด 11 ข้อ มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข คือ การเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในด้านคุณภาพชีวิต ตั้งแต่จัดระบบการดูและ ไปจนถึงการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ซึ่งประเด็นนี้แฝงอยู่ในนโยบายข้อ 3 การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ

ขณะที่นโยบายในด้านสาธารณสุขทั้งหมดอยู่ในข้อ 5 เริ่มที่ วางรากฐานระบบประกันสุขภาพครอบคลุมประชากร โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ และบูรณาการข้อมูลทุกกองทุนสุขภาพร่วมกัน เน้นป้องกันโรคมากกว่ารอป่วย สร้างกลไกจัดการสุขภาพในระดับเขตแทนการกระจุกตัวที่ส่วนกลาง สร้างความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังโรคระบาด แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร ส่งเสริมกีฬาเพื่อสุขภาพ แก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กำกับควบคุมการอุ้มบุญ การปลูกถ่ายอวัยวะ และสเต็มเซลล์ พัฒนาขีดความสามารถวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์

โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้

ข้อ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยระบุในข้อ 3.4 ว่า เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการมีงานหรือกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์และไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต โดยจัดเตรียมระบบการดูแลในบ้าน สถานพักฟื้น และโรงพยาบาล ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัว รวมทั้งพัฒนาระบบการเงินการคลังสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ

ข้อ 5 การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รัฐบาลจะวางรากฐาน พัฒนา และเสริมความเข้มแข็งให้แก่การให้บริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพโดยเน้นความทั่วถึง ความมีคุณภาพ และประสิทธิภาพดังนี้

5.1 วางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบ และบูรณาการข้อมูลระหว่างทุกระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

5.2 พัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้เจ็บป่วยแล้วจึงมารักษา สร้างกลไกการจัดการสุขภาพในระดับเขตแทนการกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ปรับระบบการจ้างงาน การกระจายบุคลากรและทรัพยากรสาธารณสุขให้เหมาะสมกับท้องถิ่น และให้ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการจ้างบุคลากร เพื่อจัดบริการสาธารณสุขโดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแล สนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมลงทุนและการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน โดยมีข้อตกลงที่รัดกุมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

5.3 เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังโรคระบาด โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยมีเครือข่ายหน่วยเฝ้าระวัง หน่วยตรวจวินิจฉัยโรค และหน่วยที่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายในการสกัดกั้นการแพร่กระจายได้อย่างทันท่วงที

5.4 ป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในการจราจรอันนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยการร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงานและการดูแลผู้บาดเจ็บ

5.5 ส่งเสริมการกีฬาเพื่อสุขภาพ ใช้กีฬาเป็นสื่อในการพัฒนาลักษณะนิสัยเยาวชนให้มีน้ำใจนักกีฬา มีวินัย ปฏิบัติตามกฎกติกามารยาท และมีความสามัคคี อีกทั้งพัฒนานักกีฬาให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติจนสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ

5.6 ประสานการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และปัญหาด้านการแพทย์และจริยธรรมของการอุ้มบุญ การปลูกถ่ายอวัยวะและสเต็มเซลล์ โดยจัดให้มีมาตรการและกฎหมายที่รัดกุม เหมาะสมกับประเด็นปัญหาใหม่ของสังคม

5.7 พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดให้มีบุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย และให้มีความร่วมมือทั้งระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและหน่วยงานต่างประเทศ โดยในเฉพาะในการป้องกันและรักษาโรคที่มีความสำคัญ