โลกเชื่อมต่อเป็นหนึ่ง แต่ละประเทศสอดประสานโดยมี “โลกาภิวัตน์” หลอมรวม จึงไม่แปลกที่ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันจะกินความไปถึงปัญหาสุขภาพ “ข้ามพรมแดน” และไม่แปลกอีกเช่นกันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะให้น้ำหนักกับ “ความร่วมมือ” จากนานาประเทศเพื่อป้องกัน-ควบคุมโรค
ภัยคุกคามด้านสุขภาพข้างต้นไม่ละเว้นขนาดและศักยภาพของประเทศ ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา และไม่ใช่ภาระของคนชาติใดชาติหนึ่ง
เมื่อผีเสื้อขยับปีก ดวงดาวก็สั่นสะเทือน
ฐานะหน่วยหนึ่งของโลก ... ประเทศไทยแตกต่างอะไรกับผีเสื้อตัวนั้นเล่า ?
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล
ในงานประชุมวิชาการวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2557 “วิจัย ... เปลี่ยนชีวิต” เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สุขภาพคนไทยร่วมสร้างมิติใหม่ในอาเซียน”
ฉายภาพความเกี่ยวโยงระหว่าง “ประเทศไทย” กับสุขภาพคนกว่า 3,000 ล้านคน ทั่วทั้งภูมิภาค
ศ.นพ.สมเกียรติ บอกว่า สหภาพยุโรป (อียู) ใช้เวลาเพียง 9 ปี ตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปขึ้น เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับสหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าโลก เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มุ่งหวังรวบรวมพลัง 10 ประเทศสมาชิกเพื่อสร้างการต่อรอง
เดิมมีการวางกรอบการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 แต่ที่สุดแล้วถูกรุกคืบด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นภายในปี 2015 และมีการประเมินกันว่าหากอาเซียนรวมตัวกันได้เมื่อใดจะเกิดพลังในการขับเคลื่อนที่สูง เพราะนอกจากอาเซียนมีลักษณะเฉพาะ เช่น การเป็นแหล่งอาหารโลกแล้ว ยังสอดรับด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่อย่างมหาศาล หากนับกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 6 พบว่ามีถึง 50% ของประชากรโลก
“ประเทศไทยอยู่ใจกลางของภูมิภาคของประชากรครึ่งโลก ถ้ายังมองการพัฒนาเป็นความเสี่ยงจะลำบากมาก อุดมการณ์ของอาเซียนไม่ได้ต้องการให้ประเทศไทยกันตัวเองออกจากประเทศสมาชิกเพื่อความอยู่รอด แต่เราต้องมองว่า 600 ล้านคนเป็นหนึ่งเดียว เราจะทำอย่างไรให้เพิ่มศักยภาพของทุกคนเพื่อสร้างสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดโลก” ศ.นพ.สมเกียรติ ระบุ
ศ.นพ.สมเกียรติ อธิบายต่อไปว่า อียูใช้ “การศึกษาชั้นสูง” หลอมรวม 28 ประเทศสมาชิกที่มีความแตกต่างเข้าด้วยกัน โดยมีการตั้งมาตรฐานกลางขึ้นมา ไม่ว่าคนประเทศใดไปศึกษาต่อในอีกประเทศก็สามารถเชื่อมต่อได้ทันที พัฒนาคนให้อยู่ในระดับเดียวกัน กระจายการจ้างงานให้ทั่วถึง การผลิตก็เพื่อคนทั้งยุโรปไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับประเทศไทยที่พูดกันเสมอว่าผลิตเท่าไรก็ไม่พอ เพราะกลัวว่าจะถูกดึงออกไปที่อื่น เป็นการคิดแบบผู้เสียเปรียบ แต่หากคิดแบบผู้ได้เปรียบอย่างประเทศเยอรมันที่สร้างทุนมนุษย์ (ด้านการแพทย์) จำนวน 6,500 คน แต่ใช้เองเพียง 1,500 คนเท่านั้น ประเด็นก็คือเขากำลังทำให้ทั้งอียูเป็นเครือข่ายเดียวกับเยอรมันด้วยการใช้ “การศึกษา”
“ผมเลยคิดว่าสามารถใช้ “สุขภาพ” เป็นตัวหลอมรวมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมเป็นหนึ่งได้ เพื่อที่จะยกระดับและต่อรองกับประเทศอื่นด้วยการมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานแข่งในตลาดโลก” ผู้อำนวยการ สวรส.แสดงวิสัยทัศน์
สำหรับประเทศไทย เมื่อสามารถทำให้ประชากร 95% เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้ คำถามคือทำไมเราไม่ทำให้คนอีก 600 ล้านคน เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว
“การสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับภูมิภาค ถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตมนุษย์ คือการลงทุนมนุษย์ที่จะทำให้เขามีพลังความสามารถในการพัฒนาประเทศในส่วนที่เขาถนัดได้ ดังนั้น “สุขภาพ” จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการหลอมรวม 10 ประเทศเป็นหนึ่งเดียว”คุณหมอสมเกียรติ ขยายความ
ศ.นพ.สมเกียรติ บอกอีกว่า ทุกคนรู้ว่าแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุขของประเทศไทยมีความสามารถ เก่งในระดับที่สากลยอมรับ แต่จากนี้เราจะไม่ได้มองเพียงเพื่อให้บริการแก่คน 60 ล้านคน แต่เราต้องมาคิดกันว่าเรามีพลังความสามารถเพียงพอที่จะสนับสนุนดูแลคน 600 ล้านคน ได้หรือไม่
“อย่างประเทศเยอรมัน เขาต้องการเพียง 1,500 คน แต่ทำไมเขาต้องผลิตถึง 6,500 คน ก็เพราะเขาเก่งด้านการแพทย์มาอย่างยาวนาน และเขาสามารถเกื้อกูลประเทศอื่นได้ แต่รายได้ต่างๆ ก็ย้อนกลับมาสู่ประเทศเยอรมันเอง นี่คือวิสัยทัศน์ในการมองเพื่อการอยู่รอดของประเทศ”
“เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน แต่ยังสับสนวนเวียนกันอยู่ว่าจะไปสู่เมดิคัลฮับ หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมบอกว่า “สุขภาพ” สามารถนำมาหลอมรวมทั้ง 10 ประเทศไทย ถ้าเรามีความชัดเจนในวิสัยทัศน์และแนวทาง” ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวย้ำ
โจทย์ก็คือจะทำอย่างไรให้ทั้ง 10 ประเทศ บ่มเพาะในส่วนที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเรื่องคน การบริการ และอุตสาหกรรม โดยสร้างให้เกิดทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะเป็นที่ๆ คนทั่วโลกมาเห็นมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการจากกลุ่มอาเซียน
“กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงทุกประเทศ วาระแห่งชาติคือการกำหนดยุทธศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นหลายเท่า เห็นได้ว่าประเทศที่เจริญแล้วมาเล่นเรื่อง “สุขภาพ” กันหมด เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิต”
คำถามคือ ... แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้ หากแต่ก็แนวความคิดอีกขั้วที่วิ่งเข้ามาชนจนต้องชะงักงัน
“อาจารย์สมเกียรติ บอกว่า อย่างที่บอกว่าภาคสังคมก็จะยืนอยู่ในหลักการเข้าถึงบริการและความเหลื่อมล้ำ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก แต่ในขณะเดียวกันถ้าเรามองว่าถ้าประเทศเจริญแล้วมีจีดีพีสูงขึ้น มีเงินเข้ามามาก เราก็ใช้เงินส่วนนี้ไปช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการและความเหลื่อมล้ำได้อีกมาก
“มันต้องมองเหรียญทั้ง 2 ด้าน” ผู้อำนวยการ สวรส.ว่าไว้เช่นนั้น
- 39 views