สพศท.เชื่อรมว.สธ.คนใหม่เข้าใจปัญหาระบบสาธารณสุข เป็นนักวิชาการทำงานในร.ร.แพทย์มานาน ขอให้รับฟังปัญหาทุกฝ่าย เตรียมขอเข้าพบเพื่อหารือการทำงานในอนาคต ส่วนรมช.สธ.คนใหม่ ยังกังวลเหตุมีภาพเป็นตัวแทนกลุ่มแพทย์ชนบท ละเลยรพศ./รพท. ขอให้แจงนโยบายให้ชัดเจน ด้านชมรมแพทย์ชนบทเสนอพัฒนา ระบบหลักประกันสุขภาพ เขตสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน และการบริหารจัดการในสธ.ทั้งปัญหากำลังคน และปัญหาค่าตอบแทนพีฟอร์พี
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) และหนึ่งในประชาคมสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ว่า ตนยินดีกับทั้งสองท่านที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว โดย ศ.นพ.รัชตะ เป็นนักวิชาการที่ทำงานในโรงเรียนแพทย์มานาน เชื่อว่าเข้าใจปัญหาระบบสาธารณสุขไทย แต่สำหรับกระทรวงฯ ยังมีปัญหาที่ค้างคามานาน จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ รับฟังปัญหาทุกฝ่าย และทำงานเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่า ก่อนหน้านี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เคยได้เข้าหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ เช่นกัน แต่เป็นในเรื่องทิศทางปฏิรูปเขตสุขภาพกระทรวงสาธารณสุขกับโรงเรียนแพทย์ จึงคิดว่าการทำงานไม่น่ามีปัญหา โดยทาง สพศท. จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อหารือถึงการทำงานในอนาคต เนื่องจากสพศท. ก็เป็นหนึ่งในประชาคมสาธารณสุขที่อยู่ในกระทรวงฯด้วย
"ส่วนนพ.สมศักดิ์ เป็นคนดีคนหนึ่งที่ทำงานด้านวิชาการมานาน แต่สพศท. อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นพ.สมศักดิ์ เป็นตัวแทนของกลุ่มแพทย์ชนบทหรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบในแวดวงมานานว่า นพ.สมศักดิ์ จัดเป็นมันสมองของแพทย์ชนบทมากว่า 30 ปี จึงกังวลว่า การมานั่งตำแหน่งครั้งนี้จะมุ่งทำงานเพื่อโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอหรือไม่ แล้วกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับจังหวัดที่ให้บริการประชาชนจำนวนมากจะได้รับความสนใจหรือไม่ ซึ่งก็จะขอเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.เช่นกัน" พญ.ประชุมพร กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึง นพ.สมศักดิ์ ว่า เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจขอให้แสดงนโยบายว่า เมื่อมารับตำแหน่งจะทำงานด้านใด และจะแก้ปัญหาในกระทรวงอย่างไร เพราะอย่าลืมว่า ขณะนี้มาในฐานะที่ถูกเลือกมาทำงานแก้ปัญหาสาธารณสุข ก็อยากขอความชัดเจนเรื่องนี้
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีกับทั้ง 2 ท่านที่ได้มาทำงานร่วมกันในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนเคยพบทั้ง 2 ท่านมาก่อน ทั้งศ.นพ.รัชตะ ซึ่งก็เคยหารือในการทำงานเขตสุขภาพร่วมกับโรงเรียนแพทย์ ส่วนนพ.สมศักดิ์ ก็เช่นกันเคยทำงานการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553 หลังจากนี้จึงคิดว่าจะเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชนได้
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ทางศ.นพ.รัชตะ ได้ให้ทาง สธ.รวบรวมข้อมูลนโยบายต่างๆ ของกระทรวงฯ ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องการบริหารผ่านเขตสุขภาพ เพื่อนำไปพิจารณาแล้ว
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่รู้จัก ศ.นพ.รัชตะ มาก่อน จึงต้องขอดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ก่อนว่า จะออกมาในรูปแบบใด แต่ที่กังวลคือ ศ.นพ.รัชตะ เป็นนักวิชาการทางฝั่งโรงเรียนแพทย์ จึงกลัวว่าจะเน้นวิชาการมากเกินไปจนทำให้ขาดความเข้าใจในการปฏิบัติหรือไม่ ส่วนนพ.สมศักดิ์ นั้นเป็นที่ทราบว่าอยู่ในแวดวงสาธารณสุขมานาน ตอนแรกเมื่อทราบว่าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ตนก็แปลกใจเพราะไม่คิดมาก่อน แต่ก็คงต้องรอดูการทำงานต่อไปว่า จะออกมาแบบใดเช่นกัน เพราะขณะนี้มีบางฝ่ายมองว่า นพ.สมศักดิ์ มาจากฝั่งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) หรือทางฝั่งตระกูลส. มาก่อน จะทำให้การทำงานโน้มไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ นพ.สมศักดิ์ ต้องโชว์ให้เห็นว่าตัวเองเข้าใจระบบสาธารณสุข และไม่โน้มเอียงไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นแน่ จึงต้องพิสูจน์ต่อไป
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สำหรับศ.นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ ถือเป็นบุคคลที่มีประวัติดี และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม อย่างศ.นพ.รัชตะ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ส่วนนพ.สมศักดิ์ เป็นลูกหม้อสาธารณสุขมาก่อน การทำงานก็น่าจะผสมผสานกันได้ดี และหวังว่าจะทำงานปฏิรูปกระทรวงฯได้ใน 1 ปี ส่วนจะได้มากหรือน้อยก็ต้องรอดู อย่างไรก็ตาม ชมรมฯมีข้อเสนอว่า อยากให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่เดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ เขตสุขภาพต่างๆ ให้ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาออกมาในรูปแบบรวบอำนาจ จึงอยากให้แก้ไขประเด็นนี้ และอยากให้มีการบูรณาการสามกองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยอยากให้มีการใช้สิทธิประโยชน์เหมือนกัน คือ การรักษาพยาบาลพื้นฐานต้องเหมือนกันหมด ส่วนจะมีสิทธิประโยชน์เพิ่มก็แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ อยากให้ปรับการดูแลกองทุนดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติและแรงงานรอพิสูจน์สถานะ จากที่ สธ.ดูแล ควรเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิเศษ ที่สำคัญอยากให้แก้ไขเรื่องการบริหารจัดการภายในสธ.โดยเฉพาะกำลังคน ทั้งค่าตอบแทน พีฟอร์พี หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่สมัย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรี และปลัดสธ.ก็ยังสานต่อจนปัจจุบัน
ขณะที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ภายหลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้กำลังเตรียมพร้อมในการเข้ามาทำงาน โดยเบื้องต้นจะร่วมคิด ร่วมทำกับข้าราชการกระทรวง สธ.เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข โดยหลักการคือ ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุด ส่วนกระบวนการทำงานจะหารือร่วมกันทุกฝ่ายก่อน
- 6 views