สปสช.เขต 4 สระบุรีหนุนสร้างระบบดูแลสุขภาพชุมชน เทศบาลนครรังสิตตั้งอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ
นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้อำนวยการแผนงานบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูในชุมชนเป็นเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสนใจ ดังนั้นองค์กรต่างๆ ต้องร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนเพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแล โดยเทศบาลนครรังสิต อ.เมือง จ.ปทุมธานี ถือเป็นเทศบาลนคร ที่ใหญ่และอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะทำให้คนในชุมชนเข้าใจถึงความร่วมมือในการร่วมกันดูแลคนในชุมชน เพราะสังคมเมืองเป็นสังคมที่ทำงาน แข่งกับเวลา ถือว่าเทศบาลนครรังสิตโดยวิสัยทัศน์ของ นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศบาลนครรังสิต ที่ให้ความสำคัญด้านการดูแลสุขภาพในชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการและทารกแรกเกิด เป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น นอกจากด้านการดูแลสุขภาพแล้ว อีกด้านที่สำคัญคือการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น สามารถดำเนินงานดังกล่าวได้เพื่อดูแลสุขภาพชุมชนในทุกมิติ ทั้งนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานฯ ในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง และคาดหวังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามาร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในชุมชน
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวว่า เทศบาลนครรังสิต ได้เข้าร่วมดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ปีพ.ศ. 2554 ในปัจจุบันเทศบาลฯสมทบงบประมาณร้อยละ 60 ให้กับกองทุนฯดังกล่าวที่ สปสช.จัดสรรงบประมาณให้ในสัดส่วนร้อยละ 40% ตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนฯท้องถิ่นขึ้น ทำให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงบริการสุขภาพแบบหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการฟื้นฟู คุณภาพชีวิต การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนดูแลกันเอง จะเห็นได้ชัดเจนจากการดูแลผู้พิการในชุมชนที่มีอาสาสมัครที่จัดตั้งโดยงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ที่สามารถดูแลฟื้นฟู เยียวยา ให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถช่วยเหลือตนเองได้
อีกทั้งยังจัดให้มีโครงการดูแลทารกแรกเกิดให้มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ การสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการในการให้ความรู้อาสาสมัครในชุมชน การจัดให้มีระบบติดตามผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงโดยการนำเทคโนโลยีสื่อสารเพื่อเฝ้าระวัง การจัดระบบกู้ชีพฉุกเฉิน เป็นต้น
- 27 views