เจ้าหน้าที่รีดพิษงู เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในวงการสาธารณสุข แต่เป็นอาชีพที่คนในสังคมให้ความสำคัญน้อยมากหรือรับรู้น้อยมาก ถ้าไม่ได้มาเที่ยวที่สวนงู
นายวิรุณ ทองคำแท้
นายวิรุณ ทองคำแท้ เจ้าหน้าที่รีดพิษงู 4 สวนงู สภากาชาดไทย วัย 54 ปี เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำงานที่สวนงู ตนเคยทำงานโรงงานมาก่อน และได้เริ่มเข้ามาทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่รีดพิษงูเป็นครั้งแรกเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีการเพาะเลี้ยงงูเหมือในปัจจุบัน งูและไข่ที่มีจึงมาจากการบริจาคและจะมีมากในช่วงฤดูฝน จนกระทั่ง สพญ.ดร.ลาวัณย์ จันทร์โฮม หัวหน้าสวนงู มีโครงการที่จะเพาะเลี้ยงงูเองในปี 2537
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่รีดพิษงูจำเป็นต้องเรียนจบสาขาใดมาเป็นพิเศษหรือไม่ วิรุณ บอกว่า ไม่จำเป็น ซึ่งตัวเองจบ ม.6 ก็สามารถทำได้ งานที่ทำนั้นจำเป็นต้องอาศัยความกล้า ไม่กลัวงู ส่วนเทคนิคการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับงู รีดพิษงู ดูแลงู ล้วนแต่เป็นประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการทำงาน จึงทำให้การทำงานมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีตอย่างมาก ที่ใช้เพียงไม้เกี่ยวกับมือเปล่าๆเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีเครื่องต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้การดำเนินงานราบรื่นมากขึ้น
วิรุณ เล่าว่า วิธีการจะรีดพิษงูได้นั้น เราจะต้องสังเกตว่างูมีสุขภาพที่แข็งแรงหรือไม่ ซึ่งจะสังเกตได้จากการลอกคราบของงู ถ้าลอกออกมาครบทั้งตัวนั่นหมายถึงงูมีสภาพสมบูรณ์ มีความพร้อม ทั้งนี้งูแต่ละชนิดสามารถทำเซรุ่มได้เฉพาะชนิดเท่านั้นไม่สามารถรีดพิษงูมาปะปนกัน เช่น พิษงูเห่า สามารถทำเซรุ่มงูเห่าได้เท่านั้น ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถรีดพิษงูได้นั้น จะต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป
สำหรับหน้าที่ของเจ้าหน้าทีรีดพิษงู คือ ทำความสะอาดที่อยู่ของงู ให้อาหาร รีดพิษ ส่วนการดูแลรักษาเป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ ในแต่ละวันจะมีการรีดพิษงูโชว์นักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างชาตินอกจากนี้ วิรุณยังบอกว่า ถ้าเราต้องการพิษงู 5 กรัม เราต้องใช้งูมากถึง 10 ตัว งูที่จะสามารถรีดพิษได้จะต้องมีอายุ 4 ปีขึ้นไป และจะรีดได้จนถึงอายุ 10-15 ปี ขณะที่งูตัวหนึ่งเฉลี่ยจะมีอายุได้มากสุดถึง 18 ปี นอกจากนี้ในการทำงานรีดพิษงูทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ควรละเลยเรื่องของความปลอดภัยทุกครั้งที่ต้องทำงาน เพราะงูเป็นสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นทั่วไป ไม่มีความเชื่อง
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นของเจ้าหน้าที่รีดพิษงู คือ ตะขอเกี่ยวงู แว่นตา รองเท้าบูท และแผ่นพลาสติดล็อกหัวงู ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้ารีดพิษงูมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น
"เคยโดนงูกัดบ้าง แต่ครั้งที่หนักที่สุด คือ โดนพิษงูเห่าพ่นใส่ตา คือ ตอนนั้นลืมใส่แว่น ช่วงที่พิษงูเข้าตาเรานั้น เราเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆเป็นฝ้าขาว โชคดีที่เพื่อนร่วมงานพาส่งโรงพยาบาลจุฬาฯทัน แพทย์ได้ใช้น้ำเกลือในการล้างตาให้ หากไปหาแพทย์ไม่ทัน ตาผมต้องบอดแน่"
วิรุณ กล่าวว่า คนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ จะต้องมีความกล้าเป็นที่ตั้ง ไม่กลัวงู รักสัตว์ สามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีมได้ สำหรับผลที่ได้จากการทำงาน ตนมองว่า ได้ความรู้เรื่องของชนิดงูต่างๆ ซึ่งความรู้ที่ตนได้มาสามารถนำไปบอกกล่าวให้คนทั่วไปได้รับรู้ สามารถช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่ง และได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตเซรุ่มที่เป็นประโยขน์กับสังคม
แม้ว่า หน้าที่ของวิรุณ ทองคำแท้ จะเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ของการผลิตเซรุ่ม ที่สังคมไม่เคยกล่าวถึง แต่การทำหน้าที่ดังกล่าว ได้สร้างความพอใจ ภูมิใจต่อของวิรุณเป็นอย่างมาก
- 574 views