แม้ว่าประเทศไทยจะมีการรณงค์ให้ความรู้เรื่อง “เอดส์” และ “เอชไอวี” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่จากกรณี “โรงแรมทาวน์อินทาวน์” ปฏิเสธการบริการ “เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย” และ “องค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คนทั่วไปและสังคมยังขาดความเข้าใจในเรื่องเอดส์และเอชไอวี จึงทำให้เกิดเหตุการณ์การตีตรา กีดกัน และละเมิดสิทธิ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงและการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเข้าถึงยาต้านไวรัสแล้วภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องบอกว่ากระบวนการรักษาและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก แต่โจทย์อีกอย่างหนึ่งคือการทำอย่างไรไม่ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ ที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ นับเป็นประเด็นที่เปราะบาง สาเหตุสำคัญมาจากคนในสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์อย่างแท้จริง มีความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ที่ไม่ถูกต้อง และแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมียุทธศาสตร์ดำเนินการในเรื่องนี้ แต่กลับลงทุนน้อยมาก
นายอภิวัตน์ กล่าวว่า กรณีของโรงแรมทาวน์อินทาวน์เป็นเพียงแต่ตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ได้ถูกละเมิดสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการตรวจเลือดก่อนเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน การจำกัดบางวิชาชีพที่ไม่ให้ผู้ติดเชื้อเรียนและทำงาน อย่างอาชีพแพทย์และพยาบาล ด้วยเกรงว่าจะนำเชื้อไปติดผู้ป่วย รวมถึงการให้ออกจากงาน สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า สังคมยังไม่เข้าใจถึงช่องทางการติดต่อรับเชื้อหรือการอยู่ร่วมกัน จึงเกิดกระบวนการที่สังคมเลือกเอาตัวรอดด้วยการกีดกันผู้ติดเชื้อ ทั้งที่เรื่องเอชไอวี/เอดส์เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ไม่ใช่ผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีจะไม่มีเชื้อเอชไอวีไปจนตลอดชีวิต เพระทุกคนล้วนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
“นอกจากการรักษาแล้ว การจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น เขาเหล่านั้นต้องพึ่งพิงตนเองได้ คนรอบข้างยอมรัและอยู่ในสังคมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่ใช่พอติดเชื้อเอชไอวีแล้วอย่ามายุ่งกับฉัน ไปไหนก็ไป ที่เป็นการกีดกัน ตีตรา ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาครัฐได้ลงทุนสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติเกี่ยวกับเอดส์และการอยู่ร่วมกันให้กับคนในสังคมน้อยมาก” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กล่าว
เมื่อครั้งไปยื่นหนังสือถึงกรรมการสิทธิมนุษยชน หลังถูกโรงแรมแห่งหนึ่งปฏิเสธการให้บริการผู้ติดเชื้อ
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ต่างพยายามทำงานในเรื่องนี้ และจากที่ได้เข้าไปทำงานในชุมชนพบว่า สังคมยังขาดความรู้และข้อเท็จจริงเรื่องเอชไอวี/เอดส์อย่างมาก โดยคนส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับภาพหลอนเกี่ยวกับผู้ป่วยเอดส์เดิมๆ ที่มีบางองค์กรพยายามเผยแพร่เพื่อขอรับบริจาค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการทำร้ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ทำลายความเป็นมนุษย์ ทั้งที่การดูแลและรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์มีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่แตกต่างจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องกินยาประจำ โดยมีสุขภาพที่แข็งแรงและดำเนินชีวิตอย่างปกติได้
ในขณะที่สังคมยังมีปัญหาการกีดกัน ตีตรา และละเมิดสิทธิ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า จากที่ได้เข้าทำงานกับทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และตัดสินใจที่จะเปิดเผยสถานะที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อสาธารณะ เพราะอยากสร้างบรรยากาศทางสังคมผ่านตัวเองและเพื่อให้คนในสังคมเห็นว่า การที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี ยังคงแข็งแรง ไม่มีสภาพเจ็บป่วย และยังคงสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ หากเข้าถึงการรักษาและดูแลตัวเองดี และสังคมเองก็ไม่ควรที่จะกีดกัน ตีตรา หรือละเมิดสิทธิ
“ผมมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายมาถึง 20 ปีแล้ว และยังคงใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ เพียงแต่อาจต้องกินยา หาหมอเป็นประจำ ไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ในช่วงที่จะเปิดเผยตัวเองว่าติดเชื้อนั้น ได้พูดคุยกันครอบครัวว่าหากผมจะเปิดตัวคิดอย่างไร กังวลใจหรือไม่ ช่วงแรกครอบครัวกลัวผลกระทบ ซึ่งผมได้ยืนยันว่าจะจัดการและทำความเข้าใจเอง แต่หลังจากเปิดเผยตัวเองไปแล้ว มีทั้งคนเชื่อว่าผมมีเชื้อเอชไอวี และมีคนที่ไม่เชื่อว่าผมมีเชื้อเอชไอวี เพราะผมดูแข็งแรงไม่ต่างจากคนอื่นๆ เนื่องจากคนเหล่านี้ยังติดกับมายาคติภาพผู้ป่วยเอดส์เดิมๆ จึงคิดว่าผมไม่น่ามีเชื้อ” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กล่าวและว่า หลังเปิดตัวไปแล้วกลับได้รับการตอบรับที่ดีจากหลายคนอย่างในชุมชนและชื่นชมว่า คนมีเชื้อเอชไอวี 1 คน กล้าออกมาบอกว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวีและกำลังทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และต้องให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบ่อยๆ รวมถึงการแสดงตัวต่อสาธารณะด้วยนั้น ส่วนตัวไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับตนเองเช่นกัน และชีวิตก็ยังดำเนินไปด้วยดี แต่การออกมาเปิดเผยตนเองและยืนต่อสาธารณะในฐานะผู้ติดเชื้อก็เพื่อให้สังคมได้คิด และมองผู้ติดเชื้อในอีกมุมมองหนึ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ภาพผู้ติดเชื้อในอดีต เพื่อลดปัญหาการกีดกัน การตีตราและเลือกปฏิบัติ เรียกว่าเป็นการเปิดเพื่อให้สังคมเรียนรู้เอชไอวีผ่านตนเอง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ในทางกลับกันต้องให้ความเป็นธรรมกับสังคมด้วย เพราะสังคมมีความหลากหลาย และเรื่องนี้ก็เป็นทัศนคติ จึงต้องให้เวลาในการทำความเข้าใจเช่นกัน ซึ่งในฐานะคนทำงานด้านเอชไอวี/เอดส์ก็ต้องเดินหน้าต่อไป
นายอภิวัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า ปัญหาการกีดกัน ตีตรา และละเมิดผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สถานการณ์นี้ในบ้านเราและประเทศอื่นๆ ไม่ต่างกันมากนัก แต่ด้วยประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการรดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ทำให้เข้าถึงการรักษาแล้ว ทำให้หลายๆ ประเทศกำลังดูว่าประเทศไทยจะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน เพราะเอดส์เป็นเรื่องของทุกคนทั้งผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ต้องช่วยกัน
- 41 views