กรมการแพทย์ร่วมมือเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วไทย แก้ปัญหาวิกฤตโรคหัวใจ แนะสัญญาณวิกฤติหากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บร้าวไปบริเวณแขนซ้าย คอ ไหล่ มีเหงื่อออกทั่วร่างกาย ต้องรีบไปโรงพยาบาลเร็วที่สุด
วันนี้ (7สิงหาคม 2557) ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Attack)” ว่า จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2553 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นจำนวนถึง 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.2% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
สำหรับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยประมาณปีละ 37,000 ราย ในระหว่างปี 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 1,185 ราย โดยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประเทศไทยจะมีอัตราตายสูงกว่าที่อื่นประมาณ 4-6 เท่าจากปัญหาดังกล่าว
กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคทรวงอกจึงได้จัดทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Attack)” ขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ให้เป็นเครือข่ายที่สามารถตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามรูปแบบเครือข่ายการบริการ (Service Plan) สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการกำหนดพื้นที่บริการและระบบส่งต่อที่ชัดเจน สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรฐาน ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ (heart team) ช่องทางด่วน (Fast track) เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็ว ทันเวลาและมีมาตรฐาน เพื่อลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจในทุกกลุ่มวัยไม่เกิน 23 ต่อประชากรแสนคน รวมทั้งการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันให้ได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจ มากกว่าร้อยละ 50 ในปี 2557 และมากกว่าร้อยละ 70 ในปี 2560
แพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก เปิดเผยว่า โครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Attack)” มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน มีการส่งต่อระบบเครือข่ายตั้งแต่โรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยการอบรมให้ความรู้ แพทย์ พยาบาล ผลิตตำรามาตรฐานการรักษา และคู่มืออ่านคลื่นหัวใจ (EKG) รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกันและรักษาโรค หรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ การสูบบุหรี่ ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ โรคอ้วนลงพุง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชน ในการปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีห่างไกลจากโรคผลการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ตุลาคม 2556 – สิงหาคม 2557 พบว่า มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 185 แห่ง จำนวนผู้ป่วยที่รับบริการ 13,390 ราย เสียชีวิต 1,088 ราย คิดเป็น 8.13% รักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด 2,101 ราย เสียชีวิต 191 ราย คิดเป็น 9.09 % รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI) 2,199 ราย เสียชีวิต 95 ราย คิดเป็น 4.32%
สำหรับอาการเตือนในกลุ่มโรคหัวใจ คือ ใจสั่น หัวใจเต้นแรง เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลาง หน้ามืดเป็นลมไม่ทราบสาเหตุ นอนราบไม่ได้ ต้องยกศีรษะสูง/เหนื่อยตอนกลางคืน ริมฝีปากและมือเท้าเขียว บวมทั้งตัวโดยเฉพาะขา เส้นเลือดที่คอโป่งพอง ท้องโต ตับโตไม่ทราบสาเหตุ ไอเป็นเลือดไม่ทราบสาเหตุ ส่วนอาการโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นสังเกตได้ คือ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บร้าวไปบริเวณ แขนซ้าย คอ ไหล่ มีเหงื่อออกทั่วร่างกาย เป็นสัญญาณวิกฤติที่ผู้ป่วยจะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ การปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำจิตใจให้แจ่มใสเพื่อลดความเครียด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถลดการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
- 33 views