23 ก.ค. 2557 รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดแถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรมชิ้นใหม่ “การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด” ณ ห้องประชุมเล็ก อา คารจอดรถหลังที่ 3 ชั้น 15
รศ.นพ โศภณ นภาธร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของคนทั่วประเทศมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ และในปีนี้ (พ.ศ.2557) นับเป็นประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจ 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาฯ “100 ปี แห่งการดูแลผู้ป่วย... ด้วยหัวใจเต็มร้อย” โรงพยาบาลยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ได้มีการคิดค้น พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด Transcatheter Aortic Valve Implantation – TAVI ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัด โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดีการคิดค้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการคิด และพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อน ให้ได้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นอีกศูนย์ของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ให้ได้รับการรักษาอย่างครบวงจร
ภายใต้เครื่องมือที่ทันสมัย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความชำนาญในสาขาโรคหัวใจ ประกอบด้วย อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ และกุมารแพทย์ รวมทั้งสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานในศูนย์นี้ ทำให้มีการคิดค้น วิจัย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย การหาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ทำการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม การทำหัตถการสวนหัวใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโครงสร้างหัวใจผิดปกติในการประชุม Cardiac Structural Intervention (CSI) 2014 ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน นับว่าเป็นความภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation - TAVI) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เรียกว่า Chula TAVI ทีม(อันประกอบด้วย แพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์ทรวงอก วิสัญญีแพทย์ พยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤติ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ และพยาบาลประสานงานโครงการ) เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจร่วมกัน ถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจได้มีโอกาสแสดงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation - TAVI) ซึ่งเป็นรายแรกๆ ของโลกที่ใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดรา (Hydra valve) และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis) พบได้ในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจโดยมีหินปูนมาเกาะ ทำให้การเปิดปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ และหัวใจวาย การวินิจฉัยอาศัยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการตีบแคบของลิ้นหัวใจ การรักษาในปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานคือ การผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ผู้ป่วยเหล่านี้มักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ (อายุ> 80 ปี) มักจะมีโรคประจำตัวอื่นๆ อีกหลายโรคร่วมด้วย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูงขึ้น ซึ่งโอกาสเสียชีวิตขณะผ่าตัดอาจสูงถึง 10 - 30% การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัดได้
นพ.วศิน พุทธารี หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า การผ่าตัดเปิดหน้าอกยังเป็นการรักษามาตรฐานแต่ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัด เนื่องจากเป็นผู้ป่วยสูงอายุ มีภาวะโรคอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น โรคเส้นเลือดตีบ ไตเสื่อม ตับทำงานไม่ปกติ เป็นต้น ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องชั่งระหว่างผลการรักษากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด ปัจจุบัน รพ.จุฬาลงกรณ์ได้ทำการรักษาผู้ป่วย ด้วยวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดไปแล้วจำนวน 31ราย การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน อาทิ แพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์ทรวงอก ฯลฯ ซึ่งรพ.จุฬาลงกรณ์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจตีบได้ประสบผลสำเร็จแต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจากลิ้นหัวใจเทียมยังมีราคาแพง หากสามารถผลิตได้ในประเทศไทยอาจทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการดังกล่าวได้
- 209 views