ประเด็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เป็นตลาดเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพข้ามพรมแดนไปมาได้นั้น เป็นที่พูดถึงกันมามากแล้ว โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายทุนมนุษย์ใน 8 สาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี การสำรวจและการท่องเที่ยว ซึ่งมีข้อกำหนดต้องจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน หรือ MRA (Mutual Recognition Agreement) เพื่อรับรองคุณสมบัติวิชาชีพและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย
แต่ต้องยอมรับด้วยว่า เวลานี้การพัฒนาคนในแต่ละสาขาอาชีพและในแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งหน้าที่ในการทำให้เกิดความ "ทัดเทียม" ของทุนมนุษย์อาเซียน นอกจากภาครัฐแล้ว สถาบันการศึกษาย่อมต้องมีส่วนเข้ามาดูแลรับผิดชอบร่วมกันด้วย
โดยเฉพาะสาขาวิชาชีพแพทย์ ซึ่งปัจจุบันยังมีประเทศในกลุ่ม CLM หรือกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ต้องยกระดับพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในแง่นี้ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การบริการทางการแพทย์ระหว่างคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการไปแล้วนั้น น่าจะเป็นอีกโมเดลความร่วมมือในการยกระดับและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 วิชาชีพที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายในปี 2558 เช่นกัน
ยิ่งในยามที่โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้มีเขตรั้วพรมแดนกางกั้นด้วยแล้ว ความร่วมมือด้านการแพทย์และการยกระดับมาตรฐานบุคลากรการแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศกลุ่ม CLM ยิ่งเป็นเรื่องที่สถาบันผลิตแพทย์ในประเทศย่านนี้ต้องเข้ามาช่วยการพัฒนา
เคยได้ยิน "รศ.น.พ.โศภณ นภาธร"คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า เอ็มโอยูที่จัดทำขึ้นนั้นเป็นการสนับสนุนการวิจัยและบริการทางการแพทย์ โดยในเฟสแรกทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทย์ 6 สถาบันใน 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยกันพัฒนากลุ่มการแพทย์ แล้วในอนาคตต้องขยายความร่วมมือให้ครอบคลุม 10 ประเทศ
"โดยเฉพาะการจับคู่เพื่อทำวิจัยทางการแพทย์ร่วมกัน เพราะปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศก็ประสบคล้ายกันและข้ามพรมแดนได้ เช่น โรคเมืองร้อน ซึ่งในประเทศโซนอื่นอาจไม่ประสบปัญหาสาธารณสุขในโรคเหล่านี้"
ดังนั้นในเฟสแรก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำ เอ็มโอยูร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุขภาพศาสตร์แห่งกัมพูชา (UHS), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (UHS) ที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข และจากพม่าใน 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งที่ 1, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งที่ 2, มหาวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้งทั้ง 3 แห่ง
ส่วนรายละเอียดในเอ็มโอยูมีใจความสำคัญคือ 1) ให้ทุนเพื่อการฝึกอบรมและศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีอยู่หรือสามารถจัดให้แก่อาจารย์แพทย์จากสถาบันใน 3 ประเทศนี้ เข้ามาศึกษา 2) การส่งผู้เชี่ยวชาญ จากจุฬาฯไปฝึกอบรมเฉพาะด้านให้แก่สถาบันแพทย์ในประเทศเหล่านั้น และ 3) ทำวิจัยการแพทย์ในกลุ่มประชาคมอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า จำนวนแพทย์ในพม่า ลาว และกัมพูชานับว่าแต่ละปียังผลิตแพทย์ในสัดส่วนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรและความต้องการแพทย์ในการแก้ปัญหาสาธารณสุข
อาทิ ในพม่าสามารถผลิตบัณฑิตแพทย์ได้ปีละ 400-600 คน ขณะที่ทั้งประเทศพม่ามีแพทย์เพียง 13,588 คน แต่มีประชากรทั้งหมด 58 ล้านคน ในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีนักศึกษาแพทย์ 1,260 คนต่อปี มีหมอและบุคลากรการแพทย์ทั้งประเทศ 1.2 พันคน ขณะที่มีประชากรในประเทศ 6.26 ล้านคน ส่วนกัมพูชาผลิตบัณฑิตแพทย์ ปีละ 100-150 คน
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยสุขภาพศาสตร์แห่งกัมพูชาในปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์ที่กำลังศึกษาอยู่มากถึงปีละ 3 พันคน
ด้วยปริมาณและความต้องการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศเหล่านี้ ความร่วมมือระหว่างสถาบันจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะต้องยอมรับว่า โรคที่ข้ามพรมแดนต้องการความร่วมมือของผู้รู้เฉพาะทางเข้ามาช่วยจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด แล้วความสัมพันธ์ที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน วิจัยด้วยกัน รวมทั้งการถ่ายเทความรู้ระหว่างกันนี้เองจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับบุคคลที่แน่นแฟ้นกว่าความสัมพันธ์ในระดับองค์กรหรือสถาบัน
ไม่เพียงแต่โรงเรียนแพทย์ทั้ง 4 ประเทศภายใต้เอ็มโอยูนี้เท่านั้น ในอนาคตจะขยายครอบคลุม 10 ประเทศอาเซียน ให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับบุคคล องค์กรและสถาบัน ย่อมทำให้การสร้างอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว มีความหมายมากกว่าคำขวัญที่ท่องจำว่า "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม" (One Vision, One Identity, One Community)
ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 - 3 ต.ค. 2555
- 79 views