สวรส. ร่วมกับ วช. ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เร่งทบทวนสถานการณ์ความก้าวหน้าของการวิจัยด้านสมองและระบบประสาทของประเทศ เพื่อวางยุทธศาสตร์งานวิจัยของชาติสู่การพัฒนางานวิจัยด้านระบบสมองและระบบประสาทเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยเฉพาะด้านที่มีประสิทธิภาพ
21 ก.ค. 57 รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากพูดถึงการพัฒนาทางด้านการแพทย์ที่มีผลต่อการรักษาและพัฒนามนุษย์ การวิจัยที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะสมองและระบบประสาททำหน้าที่สำคัญในร่างกาย ทั้งควบคุมการทำงาน การเจริญเติบโต และพัฒนาการทั้งหมด ซึ่งพัฒนาการของสมองยังส่งผลถึงพัฒนาการในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด ตลอดจนยังเป็นปัจจัยที่กำหนดศักยภาพ สุขภาพและคุณภาพชีวิตของแต่ละคนด้วย ซึ่งปัญหาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มักจะพบในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความเครียดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ อาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ ทั้งนี้ความซับซ้อนของสมองและระบบประสาทเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสมองและระบบประสาทในระดับที่ผิวเผินมาก ยังไม่มีความลึกในองค์ความรู้เรื่องดังกล่าว ตลอดจนยังขาดการวิจัยเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในการแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร ดังนั้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะองค์กรหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยทางด้านการแพทย์ของประเทศ ได้เล็งเห็นถึง
ความสำคัญของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับระบบสมองและระบบประสาทของมนุษย์ ซึ่งเป็นระบบอวัยวะที่เป็นแกนหลักในการดำรงชีวิต ส่งผลโดยตรงกับการรักษาโรคต่างๆ เช่น ปัญหาอาการสมาธิสั้น ความบกพร่องในการเรียนรู้ ปัญหาความเครียด ปัญหาโรคที่เกิดจากความชราภาพ ซึ่งในสังคมผู้สูงอายุมักพบปัญหานี้ได้บ่อย รวมทั้งปัญหาจากพฤติกรรมการใช้สารเสพติด และความเครียดจากสภาพสังคมปัจจุบัน จึงได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องการพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยเกี่ยวกับสมอง จิตใจ และพฤติกรรม (Development of Research Strategies for Brain Mind and Behaviour) ขึ้น ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. 2557 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อให้นักวิชาการ นักวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของงานวิชาการที่เกี่ยวกับสมอง จิตใจ และพฤติกรรม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการค้นหาโอกาสในการศึกษาวิจัยของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์งานวิจัยที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท พร้อมการพัฒนาเครือข่ายและวิธีการสนับสนุนงานวิจัยให้สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
- 18 views