ผลหารือปลัดสธ. และเลขาธิการสปสช. ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด พิจารณางบปี 57 งบปี 58 และการทำงานร่วมกันในระยะยาว ด้านเลขาธิการสปสช.แจง ไม่ได้สิ้นสุดแค่ที่สปสช. เพราะต้องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.อีก เผยขอให้พิจารณายกเลิกหนังสือสั่งห้ามสธ.ร่วมสังฆกรรมสปสช. แต่ปลัดขอให้คุยเรื่องงบปี 57 ก่อน แล้วค่อยคุยเรื่องหนังสือนี้
15 ก.ค. 57 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากการหารือกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.ในวันนี้ (15 ก.ค.) มีการหารือในทำงานร่วมกันตั้งเป้าหมายร่วมกัน คุยกันโดยยึดความรับผิดชอบและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย สปสช.มีหน้าที่ในการจัดหาบริการสาธารณสุขให้ประชาชน สธ.ก็มีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ในการหารือวันนี้มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันตรงนี้ คืออยู่บนพื้นฐานประชาชนได้ประโยชน์ และใช้กลไกที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งในรายละเอียดการจัดการ จะมีการตั้งเป็นคณะทำงานร่วมกัน 3 วงใหญ่
1.ในปีงบประมาณ 57 จะจัดการเรื่องการจัดสรรงบปี 57 ในส่วนที่เหลืออย่างไร โดยจะทำให้เรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้ ในส่วนของสปสช.มีนพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช.เป็นคนดูแล
2.ในปีงบประมาณ 2558 มี 4 ข้อที่สธ.เสนอในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวคือ ให้แบ่งงบรายหัวเป็น งบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และงบการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ตรงนี้สปสช.ได้ชี้แจงว่า เป็นข้อเสนอที่สปสช.ต้องไปดูว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้หรือไม่ เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสปสช. อย่างไรก็ตาม จากการหารือมีความเห็นร่วมกันว่า กลไกทางการเงินจะช่วยกลไกด้านการบริหารจัดการอย่างไร กลไกที่ดีคือ กลไกการสั่งการของสธ. และกลไกการเงินจะเดินคู่กัน จะเป็นวงที่ 2 หารือกันเรื่องนี้ ในประเด็นนี้ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดแม้สปสช.และสธ. จะตกลงกัน ก็ยังมีส่วนอื่นคือ บอร์ดสปสช.ที่ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่บอร์ดเพื่อการพิจารณา ประเด็นนี้ปลัดสธ.อยากให้เรียบร้อยภายในเดือน ก.ค.นี้
3.ประเด็นการเจรจาพูดคุยระหว่างสธ.และสปสช. ที่มี ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ จากสถาบันเพระปกเกล้า เป็นกลไกเชื่อม จะมีการการพูดถึงอนาคตว่าจะทำอย่างไร ก็อยากให้ทำต่อไป
“ทั้งนี้ ผมเสนอให้ยกเลิกจดหมายที่ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. ที่ให้หยุดความร่วมมือไปก่อน แต่ท่านบอกว่าให้คุยเรื่องงบปี 57 คุยกันให้จบแล้วค่อยว่ากันเรื่องนี้” เลขาธิการสปสช.
นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นการร่วมจ่ายนั้น ไม่ได้คุยเรื่องนี้ และขอยืนยันว่าในการประชุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมาไม่ได้มีการอภิปรายเรื่องนี้ เพียงแต่มีผู้นำเสนอเท่านั้น แต่ไม่มีการอภิปรายในประเด็นนี้ต่อ ยิ่งข้อเสนอให้มีการร่วมจ่าย 30-50 % ตรงนี้ประชาชนจะแย่แน่นอน แต่ข้อเสนอในที่ประชุมนั้น จะมีผลอย่างไรต่อไปนั้น ไม่ทราบได้ เพราะตอนนี้ไม่มีกลไกตรงนี้ และสปสช.ไม่คิดที่จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่บอร์ดสปสช.แน่นอน และตอนนี้ประชาชนไม่ต้องกังวลใจ ยังไปใช้บริการได้ตามกติกาเดิม ไม่มีการร่วมจ่ายแต่อย่างใด มีเฉพาะ 30 บาท ที่จ่ายโดยสมัครใจ คือจ่ายก็ได้ ไม่จ่ายก็ได้
“แต่ในหลักการร่วมจ่ายนั้น ต้องดูว่า ร่วมจ่ายแล้วผลักภาระให้ประชาชน จนทำให้เจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพบิดเบือนหรือล้มเหลวหรือไม่ คือการเข้าถึงบริการโดยไม่มีปัญหาการเงินเป็นอุปสรรค และไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ถ้ามีการออกแบบระบบบริการที่ทำให้ประชาชนต้องรับภาระ และต้องคิดหนักทุกครั้งว่าไปรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่ไม่ใช่หลักประกันสุขภาพแล้ว เพราะถ้าร่วมจ่ายมากๆ เป็นหนี้สินแน่นอน นี่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนอย่างแน่นอน” นพ.วินัย กล่าว
- 4 views