แรงงานต่างด้าวมีประกันสุขภาพในระดับที่ต่ำ และยังไม่ครอบคลุม ส่งผลรพ.ต้องแบกรับภาระค่ารักษา ขณะที่กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวของสธ.แม้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย แต่อนาคตอาจมีปัญหาด้านการเงิน เพราะรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนะสธ.กำหนดนโยบายชัดเจน ต้องครอบคลุมโรคเอดส์ เน้นส่งเสริมป้องกัน และต้องบังคับให้แรงงานต่างด้าวทุกคนมีประกันสุขภาพตามกฎหมาย ไม่ใช่แบบสมัครใจ เสนอรัฐเร่งวางมาตรการเชิงรุก จัดบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพราะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเสียภาษีทั้งทางตรงทางอ้อมให้กับประเทศไทย
ที่นนทบุรี-เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2557 ในงานเสวนาวิชาการ “จับตา...ทิศทางประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย(ภวส.) ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus (เอชโฟกัส) : เจาะลึกระบบสุขภาพ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวในการเสวนาว่า ได้มีการแบ่งคนต่างด้าวออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1. กลุ่มชนชาติ ชนกลุ่มน้อย กลุ่มคนไร้รัฐ คนไทยพลัดถิ่น จีนฮ้ออพยพ คนไทยอพยพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 กลุ่มที่ได้รับสิทธิในการอยู่ในประเทศไทยถาวร 2.กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนเร่ร่อน คนพิการ คนไทยตกหล่น เราจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร 3. แรงงานต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน และ 4.ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น โดยทั้งหมดนี้จะทำอย่างไรให้สามารถดูแลด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เป็นบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ควรจะไดรับเช่นเดียวกับการให้การศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย และเสียภาษีทั้งทางตรง ทางอ้อมให้กับประเทศไทย
“ดังนั้นจึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดูแลให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่มีการขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยบริการทุกแห่งต้องรับดูแล หากปฏิเสธจะถือว่ามีความผิด โดยจัดระบบบริการที่ง่ายต่อการเข้าถึง ราคาถูก และบางกรณีให้ฟรี ไม่เก็บค่าตรวจสุขภาพ เช่นเดียวกับระบบประกันสุขภาพของคนไทย เพราะคนบางคนเขาไม่มีเงิน โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การบริการเชิงรุก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแรงงานหรือนายจ้างอย่างเดียว ทั้งนี้หากดำเนินการได้ดีจะเป็นการตัดขบวนการนายหน้าที่ทำให้มีปัญหาค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาการค้ามนุษย์” นายสุรพงษ์กล่าว
ดร.ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ นักวิจัยอิสระ ซึ่งทำวิจัย การศึกษารูปแบบและการดำเนินการด้านสุขภาพที่เหมาะสมของกองทุนระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่า
1.กองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวของสธ.อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ คือมีรายรับมากกว่ารายจ่ายในการให้บริการสุขภาพ แต่พบว่ารายจ่ายบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัตราการขายบัตรประกันสุขภาพกลับมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นในอนาคตอาจมีปัญหาด้านสถานะทางการเงินของกองทุน
2.พฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรไทย ซึ่งตรงนี้อาจจะพิจารณาได้ว่ามีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพหรือไม่
3.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พบว่า จากการที่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามมีประกันสุขภาพอยู่ในอัตราที่ต่ำ แม้สธ.จะมีการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว แต่ก็ขายได้ลดลง สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านแรงงาน และด้านการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว การไม่ทราบจำนวนของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่แท้จริง การไม่มีสภาพบังคับในการซื้อประกันสุขภาพ และช่องว่างของการพิสูจน์สัญชาติและการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ทำให้เกิดช่องว่างในการหลีกเลี่ยงการประกันตนและซื้อบัตรประกันสุขภาพ ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่ยังไม่มีสิทธิสวัสดิการใด ดังนั้นจึงต้องทำให้การประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามมีสภาพบังคับตามกฎหมาย ไม่เป็นแบบสมัครใจเหมือนปัจจุบัน
ดร.ภญ.อุษาวดี กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น ควรกำหนดให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม ต้องมีหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยต้องจัดให้เข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างครอบคลุม ทั้งการรักษาพยาบาล การเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค และการควบคุมโรค โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย ขณะเดียวกันระบบประกันสุขภาพต้องมีสถานะบังคับตามกฎหมาย ในการอนุญาตทำงานเช่นเดียวกับระบบประกันสังคม โดยกระทรวงสาธารณสุข ต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการจัดทำระบบฐานข้อมูล ระบบการลงทะเบียนต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานบริการสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานควรยกเลิกการเก็บค่าตรวจสุขภาพ เพราะถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่ไม่ควรให้เป็นภาระของแรงงาน ต้องทบทวนโครงสร้างการจัดการทั้งหมด การเปลี่ยนนโยบายบ่อยก่อให้เกิดความสับสนทั้งในส่วนของหน่วยบริการ และผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ อีกทั้งเวลาไปรับการรักษาจริงไม่ได้รับสิทธิตามนั้น
ด้านนางหิรัญญา ปะดุกา กลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทิศทางตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือการขายบัตรประกันสุขภาพให้ครอบคลุมแรงงานที่มีในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการตั้งกองทุนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถนำเงินไปดูแลแรงงานต่างด้าวได้สะดวกและครอบคลุม เนื่องจากที่ผ่านมาทำได้ยากเพราะไม่มีเงินกองทุน ระยะที่ 2 จะหารือกับสำนักงานประกันสังคมถึงความเป็นไปได้ในการเอาแรงงานต่างด้าวให้มาอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และให้ทำบัตรประกันสุขภาพภาคบังคับ และระยะที่ 3 ให้มีกฎหมายบังคับซึ่งอาจจะมีการพิจารณาไปถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่มากกว่า 3 สัญชาติ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมีแรงงานเข้ามาอย่างน้อย 10 ประเทศ
“ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอว่าไม่ควรเก็บค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวนั้น ในทางปฏิบัติก็สามารถทำได้ แต่รัฐต้องให้การสนับสนุนงานประมาณเข้ามา เพราะตรงนี้มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน พอเริ่มซื้อบัตรประกันสุขภาพค่าใช้จ่ายก็เกิดขึ้นแล้วถ้าคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์คิดว่าไม่คุ้ม แค่เป็นหวัดไปหาโรงพยาบาลก็เสียค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 500 บาท และถ้าต้องนอนโรงพยาบาลค่าใช้จ่ายจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยก็มีโรคเช่นเดียวกับคนไทย ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงอย่างก็กรณีการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันบาทต่อคน ต่อเดือน บางคนเป็นโรคดื้อยาจะยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น”นางหิรัญญา กล่าว
- 84 views