สธ.จับมือมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เผย ขณะนี้มีแพทย์สำเร็จการศึกษาจากโครงการนี้กว่า 4,000 คนแล้ว
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 57 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์ เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระทรวงสาธารณสุขไทย กับศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (The Center for Medical Education, Kyoto University) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเข้มแข็งและคุณภาพระบบการศึกษา วิชาแพทยศาสตรศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
สาระของความร่วมมือทางการศึกษาด้านการแพทย์กับประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือเพื่อพัฒนาอาจารย์แพทย์ แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ โดยมีข้อตกลงในบันทึกความร่วมมือทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1.ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ที่สอนในโครงการผลิตแพทย์ เพิ่มเพื่อชาวชนบท ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ 2.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในการเรียนการสอนและการวิจัยทางการแพทย์ และ 3.แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ การวิจัย ประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาทางการแพทย์การวิจัยภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ โดยใช้ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 37 แห่ง เป็นฐานการอบรมพัฒนา โดยจะร่วมมือ ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2557 เป็นต้นไป
นพ.ทรงยศ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อชาวชนบทตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงปี 2556 ได้รับนักศึกษาแพทย์ในโครงการทั้งสิ้น 10,204 คน ปัจจุบันมีแพทย์ที่จบจากโครงการฯ และปฏิบัติงานในภูมิลำเนา จำนวน 4,164 คน และอยู่ในระหว่างการศึกษา 5,903 คน โดยเรียนหลักสูตรเดียวกันกับการผลิตแพทย์ในระบบปกติ เป็นเวลา 6 ปี โดยเรียนภาคทฤษฎี 3 ปีแรก และ 3 ปีหลังจะเป็นการฝึกปฏิบัติในภาคคลินิกในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการสัมมนาด้านแพทยศาสตรศึกษา ซึ่งจัดที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา ประเทศไทยต้องการจะร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตแพทย์และกระจาย แพทย์ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งทางญี่ปุ่นยินดีร่วมกับไทย เพื่อร่วมมือกันเสริมสร้างระบบการศึกษาวิชาแพทยศาสตรศึกษาของประเทศไทย ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
- 20 views