สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งเทศกาลแข่งขันฟุตบอลครั้งสำคัญที่กำลังดำเนินการแข่งขันอยู่ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา อาทิเช่น ปัญหาความเครียด ปัญหาการพนัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตแก่ประชาชนอย่างชัดเจน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลด้านจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้  ซึ่งกว่าจะมาเป็นกรมสุขภาพจิตนั้น  มีความเป็นมา ดังนี้

โรงพยาบาลคนเสียจริตได้เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน รศ.108 (พ.ศ. 2432) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) อันเนื่องมาจากมีการส่งคนป่วยทางจิตหรือที่คนสมัยนั้นเรียกว่า “คนเสียจริต” เข้ามารักษาที่ศิริราชพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศิริราชพยาบาลเห็นว่าควรมีการจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งเพื่อรักษาผู้ป่วยทางจิตโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายแพทย์ปีเตอร์ กาแวน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และแพทย์มิชชันนารีอีก 2 คน คือ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) และนายแพทย์โธมัส เฮวาร์ด เฮส์  ตัวโรงพยาบาลดัดแปลงจากบ้านเดิมของพระยาภักดีภัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) ซึ่งเป็นบ้านพร้อมที่ดินชำระหนี้หลวง ตั้งอยู่ ณ บริเวณด้านทิศเหนือของป้อมปัจจามิตร ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ห่างจากปากคลองสาน ประมาณ 120 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 4 - 5 ไร่ เมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้วรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า“โรงพยาบาลคนเสียจริต” อยู่ภายใต้การดูแลของ กรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ  มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงเป็นอธิบดี  มีนายแพทย์เอช แคมป์เบลล์ ไฮเอ็ด (Hugh Campbell Highet) ที่ถือได้ว่าเป็นผู้อำนวยการคนแรก ในระยะเริ่มแรกนั้นผู้ให้การรักษาจะเป็นแพทย์แผนไทยเป็นหลัก แต่จะมีแพทย์ฝรั่งจากคณะมิชชันนารีแวะเวียนมาทำการตรวจรักษาร่วมด้วย ทำให้วิธีการรักษามีลักษณะไทยผสมตะวันตก กล่าวคือ ใช้ยาตำรับแพทย์แผนไทยหรือใช้เวทย์มนต์ไสยศาสตร์ตามความเชื่อของแพทย์แผนไทยในยุคนั้น  และการรักษาและฟื้นฟูร่างกายและจิตใจจากแพทย์แผนตะวันตก

ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นประกอบกับสถานที่คับแคบ นายแพทย์เอช แคมป์เบลล์ ไฮเอ็ด ได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินและบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร ที่ดินของนายเปียราชานุประพันธ์และที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่นๆ รวมเนื้อที่ 44 ไร่ครึ่ง ห่างจากโรงพยาบาลเดิมประมาณ 600 เมตร เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ในปี พ.ศ. 2448 โดยมีพระยาอายุรเวชวิจักษ์ (หมอคาธิวส์) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล เป็นผู้ออกแบบควบคุมการก่อสร้าง ทั้งวางรากฐานโรงพยาบาลให้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแบบตะวันตก มีการเปลื่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน และโอนไปขึ้นกับ กองแพทย์สุขาภิบาล กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล

ระหว่างทำการก่อสร้าง เพื่อป้องกันไม่ให้หลังคาของโรงพยาบาลที่เป็นสังกะสีเป็นสนิม พระยาอายุรเวชวิจักษ์ได้ไปเหมาซื้อสีแดงมาทาหลังคาสังกะสีของอาคารทุกหลัเพื่อกันสนิม  ทำให้เป็นจุดเด่นของโรงพยาบาล จนมีการเรียกโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “หลังคาแดง” มาถึงปัจจุบัน

ในช่วงแรกโรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน อยู่ภายใต้การบริหารของแพทย์ชาวตะวันตก และสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีการถูกโอนย้ายไปขึ้นกับกองต่างๆ ภายใต้สังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยหลายครั้งด้วยกัน  โดยในปี พ.ศ. 2468 ได้ถูกโอนย้ายไปขึ้นกับกองตรวจการบำบัดโรค ต่อมาได้มีการแต่งตั้งแพทย์ไทยคนแรกเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริต ปากคลองสาน ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร) และได้ทำการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลโรคจิตต์ ธนบุรี” ในปี พ.ศ. 2475 เพื่อให้คนทั่วไปคลายความรังเกียจที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช

ในปี พ.ศ. 2476 โรงพยาบาลโรคจิตต์ ธนบุรี ได้ถูกโอนย้ายไปขึ้นอยู่กับกองสาธารณสุขพระนคร ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ได้มีการขยายงานสุขภาพจิตไปยังภูมิภาคต่างๆของไทย มีการสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขึ้นในภาคต่างๆของประเทศ ด้วยความริเริ่มดำเนินการของศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม ที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยให้เพียงพอและทั่วถึง โดยดำริให้สร้างที่ภาคใต้และภาคเหนือก่อน โรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกที่เปิดให้บริการในภูมิภาค คือ "โรงพยาบาลโรคจิตต์ ภาคใต้" ที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งต่อมาได้เปลื่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2480 และแห่งที่สอง คือ "โรงพยาบาลโรคจิตต์ภาคเหนือ" ที่ อ.เมือง จ.ลำปาง เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2482 ซึ่งต่อมาเห็นว่าที่ตั้งห่างไกลจากชุมชนได้ย้ายไปเปิดที่เชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2489 

ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้ง”กองสุขภาพจิต” ขึ้น โดยยังคงสังกัดอยู่ในกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยมีหลวงวิเชียรแพทยาคมเป็นหัวหน้ากองคนแรก  สำนักงานตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลโรงพยาบาลโรคจิตทั้งหมดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และแม้ว่าจะมีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นในภูมิภาค แต่จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคมจึงได้มอบที่ดินของตน จำนวน 1,067 ไร่ ย่านตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตแห่งใหม่  ในปี พ.ศ. 2484  เมื่อเริ่มเปิดดำเนินการได้รับโอนผู้ป่วยชายเรื้อรัง จำนวน 150คน จากโรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี  ไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งก็คือ “โรงพยาบาลศรีธัญญา” ในปัจจุบัน และได้มีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. 2489 ได้แก่ "โรงพยาบาลโรคจิตต์ ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี  หรือโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ในปัจจุบัน

โรงพยาบาลโรคจิตต์ ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี  หรือโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2485 มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุข และมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมการแพทย์  ทำให้มีการโอนงานสุขภาพจิตและโรงพยาบาลจิตเวช มาสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเปลี่ยนชื่อเป็น กองโรงพยาบาลโรคจิต ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2485  โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย  เป็นทั้งผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลโรคจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี  และได้เปลี่ยนชื่อ "โรงพยาบาลโรคจิตต์ ธนบุรี" มาเป็น " โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา" ตามชื่อของ "ถนนสมเด็จเจ้าพระยา" ที่ตัดผ่านด้านหน้าโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2497 พื่อลดความกระดากใจของผู้มาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันนี้คือ “สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา”

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) งานสุขภาพจิตปรากฏอยู่ในรูปของ "โครงการปรับปรุงโรงพยาบาลโรคจิตและโรคทางประสาท" และ "โครงการจัดตั้งแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลทั่วไป"  ซึ่งในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการเปิดศูนย์วิจัยประสาทเชียงใหม่ เป็นสาขาของโรงพยาบาลสถาบันประสาทวิทยาในส่วนภูมิภาค ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และได้ก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และเปิดแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ต่อมาได้ขยายไปเปิดที่โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลยะลา จนครบจำนวนโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป

ในส่วนของกองโรงพยาบาลโรคจิต นั้น เมื่อโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ายสำนักงานจากโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี มาอยู่บริเวณวังเทวะเวสม์ สามเสน กรุงเทพมหานคร  มีหน้าที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตทั่วประเทศ มีหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีการเปลื่ยนชื่อเป็นกองสุขภาพจิต เมื่อปี พ.ศ. 2515 และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ ถนนติวานนท์ นนทบุรี ตามกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557.  จาก http://www.dmh.go.th/intranet/about.asp และ http://www.dmh.go.th/intranet/history.asp

โรงพยาบาลศรีธัญญา,[Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2557.  จาก http://www.srithanya.go.th/index.php/2014-06-16-06-49-44/2014-06-16-06-11-36

โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์,[Online],  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2557.  จาก http://www.prasri.go.th/www/main.php?task=knowme

โรงพยาบาลสวนสราญรมย์  ,[Online],  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2557.  จาก http://www.suansaranrom.go.th/PhP/html/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=79

ประคอง แก้วนัย. ประวัติศาสตร์สุขภาพจิตชุมชน, [Online],  สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557.  จากหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย http://www.nham.or.th/download/category/12/2/

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา[Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557.  จาก

http://www.somdet.go.th/known_orga/his_som.php