"แพทย์ประจำบ้าน คือ การเรียนรู้เพิ่มเติมของแพทย์ที่จบออกมา หรือทำงานมาได้ระยะหนึ่ง เป็นการเรียนโดยความสมัครใจ เพื่อเรียนในสาขาเฉพาะทางต่างๆ เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยแพทย์ เป็นการเรียนเฉพาะทาง ซึ่งต้องยอมรับกันว่า หลังๆบทบาทของแพทย์ทั่วไปน้อยลง เพราะโลกมันกว้างขึ้น มีโรค ยอะขึ้น ลึกขึ้น แพทย์จะรู้ทุกโรคและทำการรักษาให้เกิดความผิดพลาดได้น้อยเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การเรียนเฉพาะทาง จะกลายเป็นทางเลือกที่ดีขึ้น เราอาจจะไม่ต้องรู้ทุกโรค แต่เราจะได้รู้ลึก ความผิดพลาดในการดูแลคนไข้ หรืออะไรหลายๆอย่างก็น่าจะดีขึ้น"
พญ.ดารัตน์ เรืองเกรียงสิน
พญ.ดารัตน์ เรืองเกรียงสิน นักศึกษาแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงทัศนคติส่วนตัวในการศึกษาเป็นแพทย์ประจำบ้าน
นอกจากนี้ พญ.ดารัตน์ ยังได้ขยายความของคำว่าแพทย์ประจำบ้านไปอีกว่า แพทย์ประจำบ้าน คือ แพทย์ที่มาเรียนรู้ในระดับที่ลึกลงไปในเฉพาะสาขา มากกว่าแพทย์ทั่วไป การเป็นแพทย์ประจำบ้านจะต้องมีความรู้ที่เยอะขึ้น มีการอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา มีการสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่จบออกไป ความรู้ย่อมเสื่อมถอยเป็นเรื่องธรรมดา การที่เป็นแพทย์จะต้องมีความพร้อมที่จะหาความรู้ใหม่ๆตลอดเวลา
หลังจากการศึกษาเป็นแพทย์ประจำบ้านแล้ว ทุกวันหลังเวลาราชการ พญ.ดารัตน์ ยังได้ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช นอกเวลาราชการอีกด้วย ซึ่งในตำแหน่งดังกล่าวในภาพรวม เป็นการทำหน้าที่โดยรวมแทนผู้อำนวยการ เป็นการแบ่งเบาภาระของท่านผู้อำนวยการ แต่หากมีเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นจริงๆก็ต้องให้ผู้อำนวยการตัวจริงท่านเป็นคนตัดสินใจ
เมื่อกล่าวถึงระบบสาธารณสุขในประเทศไทย พญ.ดารัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้มากกว่า 90% ทุกคนสามารถเดินเข้าโรงพยาบาลได้ ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีห่างไกลความเจริญจริงๆ ถ้าหากต้องการให้ระบบสุขภาพของไทยเดินต่อไปได้ โดยไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ทุกอย่างต้องมีความสมดุลทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ
ที่ผ่านมา บางครั้งการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาจเป็นผลเสียทางอ้อมอย่างหนึ่งคือ ทุกคนมั่นใจว่าเดินเข้ามาในโรงพยาบาลแล้วจะต้องได้ยากลับไป จนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง เพราะเชื่อว่า อย่างไรเสียก็รักษาฟรี ซึ่งผลกระทบตรงนี้จะส่งผลให้แพทย์ พยาบาลในพื้นที่ทำงานหนักมากขึ้น เวลาในการตรวจคนไข้ลดน้อยลง สำหรับวิธีการแก้ปัญหาในกรณีนี้ คือ แพทย์ พยาบาลจะต้องทำงานในเชิงรุกให้มากขึ้น เข้าถึงประชาชน สอนให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในเรื่องของการกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ พญ.ดารัตน์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีแพทย์ออกไปเปิดคลินิกส่วนตัว ว่า เป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า สไตล์ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบเปิดคลินิก บางคนชอบทำงานในโรงพยาบาล หรือแม้แต่นักศึกษาแพทย์ที่จบใหม่ๆส่วนใหญ่ยังไม่มีครอบพร้อม โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว ซึ่งอย่างแรกคือ ต้องไปใช้ทุนก่อน เพื่อหาประสบการณ์ จากนั้นจึงศึกษาต่อเฉพาะทาง หลังจากนั้นชีวิตจึงจะค่อยเข้าที่เรื่อยๆ
แล้วต่อจากนั้นแพทย์เหล่านั้นเขาจะเลือกชีวิตของแต่ละคน ว่าใครจะเลือกเรียนต่อ หรือเปิดคลินิก หรืออยู่ในโรงพยาบาล แล้วลักษณะคนไข้ที่ชอบแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะทำงานหลักที่โรงพยาบาล การเปิดคลินิกจึงอาจเป็นเพียงรายได้เสริมเพื่อให้ชีวิตในครอบครัวมีความพร้อมมากขึ้น
แต่เมื่อกล่าวถึงภาพรวมในระดับนโยบายแล้ว พญ.ดารัตน์ บอกว่า ทุกครั้งที่กระทรวงสาธารณสุขมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ย่อมส่งผลกระทบกับบุคลากรทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และส่วนอื่นๆ ยิ่งเปลี่ยนแปลงจะนโยบายมากขึ้นเท่าไหร่ การทำงานในพื้นที่จะขาดความต่อเนื่อง จึงอยากให้มีนโยบายที่มั่นคงและต่อเนื่องมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยน จะกระทบคนที่ทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะพยาบาลที่เป็นกำลังหลักที่สำคัญ ซึ่งอาจจะสำคัญมากกว่าแพทย์เสียอีก เนื่องจากพยาบาลส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ ส่วนแพทย์อาจมีการหมุนเวียนกันไป
ดังนั้น คนที่กระทรวงสาธารณสุขควรจะให้ความสำคัญมากที่สุดคือ พยาบาล เพราะพยาบาลทำงานหนักกว่าหมอ แต่สวัสดิการต่างๆยังไม่ดีเท่าแพทย์ พยาบาลเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการทำงานในระบบสุขภาพ จึงอยากให้มีนโยบาย ค่าตอบแทน และให้ความสำคัญกับพยาบาลเพิ่มขึ้น
สิ่งที่สุดท้ายที่อยากจะฝากไปยังกระทรวงสาธารณสุขคือ กระทรวงสาธารณสุข จะต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลแพทย์ พยาบาลในช่วงที่เกิดปัญหากับคนไข้ และควรส่งเสริมให้แพทย์ พยาบาลได้มีโอกาสศึกษาต่อให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป
- 291 views