การจะพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) อย่างสมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้จะได้เปรียบในเรื่องของทรัพยากร ความสามารถและฝีมือแต่หากขาดความรอบคอบก็อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้
สืบเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ บางแห่งมีการผสมผสานบริการด้านการรักษาพยาบาลและการพักฟื้นร่วมกับการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมเดินทางมาใช้บริการ ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งมีรายได้และประสบการณ์ในการรักษา อีกทั้งมีแพทย์ไทยที่จบการศึกษาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากจึงมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการรักษา นอกจากนี้ราคาก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับระดับมาตรฐานการรักษาเดียวกันในประเทศอื่นๆ รวมถึงการบริการทางการต้อนรับที่ดีของไทย จึงไม่แปลกที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์อย่างครบวงจร
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และประกาศใช้เมื่อปี 2556 โดยมีมติให้บูรณาการวงการแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านสุขภาพเน้นให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อน ต่อยอดให้เกิดความสำเร็จและเกิดการเชื่อมโยงอย่างเต็มที่ รวมทั้งเพื่อให้การจัดสรรงบประมาณลงในแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะดำเนินการในเรื่องใดจำเป็นต้องมีการสำรวจ เพื่อหาข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สำหรับแนวทางการพัฒนาศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) กำหนดไว้ 4 ด้านประกอบด้วย
1.เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) เป็นการบริการอย่างครบวงจร
2.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ต่อยอดกับระบบสปาระบบการทำงานเพื่อสร้างสุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย
3.ศูนย์กลางการศึกษาวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
4.ศูนย์กลางยา และผลิตภัณ์สุขภาพ ( Product Hub)
ดังนั้นการจะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ที่สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ จำเป็นต้องมีการสำรวจ เพื่อหาข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ รวมถึงผลกระทบที่จะตามมา
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้จัดประชุมเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันเพื่อให้ทราบปัญหาและข้อเสนอแนะที่จำนำไปสู่การจัดทำยุทธศาสตร์ที่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ(ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนยุทธศาสตร์ของการวิจัยรายประเด็นด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการจัดบริการสุขภาพของประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันกับนานาประเทศตามกลไกของการค้าเสรีจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ สร้างองค์ความรู้ในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสุขภาพให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่การรับรองคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลตลอดจนการได้รับรางวัลเกียรติยศจากนานาชาติ และเพื่อศึกษาแนวทางบริหารและขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาศูนย์กลางทางการแพทย์โดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อระบบสุขภาพไทยตลอดจนสนับสนุนแนวทางสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวต่างประเทศที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ถือเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการคัดเลือกทำงานวิจัยมาช่วยเติมเต็มขึ้นพื้นฐานของสุขภาพ ดูแลยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพต่างๆ ดูแลสุขภาพในเชิงการท่องเที่ยวรวมทั้งนำมาต่อยอดในการสร้างอาชีพและการพัฒนาให้เกิดความเป็นเลิศในศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นการวิจัยเพื่อให้ไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบของประเทศ เนื่องจากนโยบายนี้หลายคนเกรงจะกระทบต่อการดูแลสุขภาพคนในประเทศเพราะจำนวนแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีไม่เพียงพอ แล้วยังต้องไปดูแลต่างชาติอีก ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็อยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริม ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้รู้ว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ได้หรือไม่นั้นจำเป็นต้องมีงานวิจัยมาสนับสนุนเพื่อหาคำตอบให้
“การคัดเลือกหัวข้องานวิจัยในเบื้องต้นต้องเป็นเรื่องที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในขณะเดียวกันก็จะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบและอาจก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนั้น เนื่องจากงบประมาณที่ได้มีจำกัด นอกจากนี้ยังต้องมาดูอีกว่าใครจะทำวิจัยในเรื่องไรบ้าง ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา” นพ.ศุภกิจ กล่าว
การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศเป็นเรื่องดีแต่ต้องไม่ลืมเอาใจใส่สุขภาพคนในประเทศ เพราะปัจจุบันสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นควรหาแนวทางรองรับเรื่องสังคมผู้สูงอายุของไทย โดยหากหวังพึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพก็จะพบว่าต้นทุนด้านการรักษาสุขภาพนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นควรกลับไปพิจารณาถึงสาเหตุของโรคเพื่อให้มีการแก้ไขที่ต้นทาง ซึ่งหากร่วมกันคิดหาแนวทางตั้งแต่วันนี้และบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาแผนการแพทย์เชื่อว่าจะสามารถวางยุทธศาสตร์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวงการแพทย์ได้มากขึ้น ขณะที่ในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ พยาบาลและเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือถึงทิศทางแผนพัฒนากันให้ชัดเจนเพื่อให้มีการวางแผนในระยะยาวต่อไป ถ้าคิดให้รอบด้าน ไม่นานไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ได้อย่างแน่นอน
- 26 views