กรมสุขภาพจิต เผย ติดยา ป่วยจิต เข้าไม่ถึงบริการ รักษาไม่ต่อเนื่อง ชนวนก่อคดี กระทำผิดซ้ำ เด็กและเยาวชนไทยน่าห่วงสุด
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 43 ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในวันที่ 16 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ ว่า ปัญหาการกระทำความผิดรุนแรงที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตหรือผู้ป่วยนิติจิตเวชนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ การมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาได้น้อยและไม่ต่อเนื่อง ตลอดจนขาดการดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นรวมทั้งเป็นเหตุให้ก่อคดีซ้ำได้ ทั้งนี้ ในปี 2556 โรงพยาบาลและสถาบัน สังกัดกรมสุขภาพจิต ได้ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยนิติจิตเวช จำนวน 3,549 ราย (สถาบันกัลยาณ์ฯ 1,671 ราย หน่วยงานอื่นๆ 1,878 ราย) จากคดียาเสพติดมากที่สุด รองลงมา คือ คดีทำร้ายร่างกาย และคดี ลักทรัพย์และป่วยด้วยโรคจิตเภทมากที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่น่าห่วง ซึ่งจากข้อมูลสถิติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ พบว่า ในรอบ 5 ปี (ปี 2552-2556) เด็กและเยาวชนไทย อายุ 10 -18 ปี ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 30,000 คดีต่อปี ล่าสุด ปี 2556 พบ 37,433 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มี 34,276 คดี โดยในจำนวนนี้ มีจำนวนคดีที่เป็นการกระทำผิดซ้ำ ในปี 2555 ร้อยละ 19.98 (6,849 คดี) และ ร้อยละ 12.99 (4,864 คดี) ในปี 2556 กล่าวคือ ทุก 5-7 คดี จะมีการกระทำผิดซ้ำ 1 คดี คดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภทยาบ้าหรือแอมเฟตามีนยังคงเป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยมากที่สุด และเป็นคดีที่กระทำผิดซ้ำมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ ในจำนวนคดีที่กระทำผิดทั้งหมด ในปี 2553-2554 พบว่า มีสาเหตุมาจากการป่วยทางจิต ประมาณร้อยละ 0.17(75 คดี) และ ร้อยละ 0.09 (32 คดี) ตามลำดับ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีอาการป่วยทางจิต และส่งผลให้เกิดการกระทำผิดอื่นๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม คาดว่า สถิติเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดจากการป่วยทางจิต อาจมีจำนวนมากกว่านี้ และที่เห็นว่ายังมีจำนวนน้อยอาจเป็นเพราะการกระทำผิดไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเนื่องจากคู่กรณีเห็นว่าผู้กระทำผิดเป็นเด็กและป่วยทางจิต รวมทั้ง การมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการรักษา จึงทำให้ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยทางจิต
กรมสุขภาพจิตมีนโยบายในการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญในการพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศที่มีความเป็นเลิศในงานบริการและวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวช การก้าวสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) ด้านนิติจิตเวช ในระดับประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนในระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับท้องถิ่น ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จึงได้เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงบริการครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนลดจำนวนการกระทำผิดซ้ำในเด็กและเยาวชนรวมทั้งผู้ต้องขังทั่วประเทศ ผ่านระบบเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตและกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2556) สถาบันได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมมากกว่า 40,000 รายต่อปี ( 46,483 ราย, 41,257 ราย และ 40,110 ราย ตามลำดับ)
ทั้งนี้ ได้ให้บริการนิติจิตเวชกับผู้ป่วยนอกทั้งที่มารับบริการที่สถาบันฯ และในเรือนจำ รวมทั้งผู้ป่วยที่รับไว้ในโรงพยาบาล มากกว่า 1,500 รายต่อปี ( 1,779 ราย, 1,521 ราย และ 1,671 ราย ตามลำดับ) ด้วยความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมากที่สุด และในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้รับผู้ป่วยไว้รักษา จำนวน 1,595 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยนิติจิตเวช 140 ราย ผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป 1,115 ราย ผู้ป่วยติดสารเสพติด 218 ราย และ ผู้ป่วยติดสุรา 122 ราย ซึ่ง โรคจิตเภท ยังคงเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดทั้งในผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยนิติจิตเวช
ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานเพื่อการก้าวสู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) ด้านนิติจิตเวช ในระดับประเทศ อาทิ การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครปฐมและสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดนครปฐม ในการส่งต่อเด็ก เยาวชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย แก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และรักษา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 การจัดทำแนวทางการดูแลผู้ต้องขังจิตเวชสำหรับบุคลากรในเรือนจำ โดยแจกจ่ายให้กับหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต กรมราชทัณฑ์ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ตลอดจนผลักดันให้บุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยกันนำผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตาม พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. 2551
ในโอกาสที่สถาบันฯ จะก้าวสู่ปีที่ 43 ของการดำเนินงานด้านนิติจิตเวช จึงขอเชิญชวนผู้สนใจทุกเพศทุกวัยร่วมงานและทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ตรวจประเมินสุขภาพกาย-ใจ จับจ่ายสินค้าธงฟ้า ราคาประหยัด สินค้า O-TOP ร่วมชิมอาหาร และนวดแผนไทยคลายเครียดได้ฟรี ตลอดจนรับของที่ระลึกอีกมากมาย ในวันจันทร์ที่ 16 มิ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 9 โมงเป็นต้นไป ที่สำคัญ ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อผู้ป่วยยากไร้ที่ต้องรับการรักษาแต่ขาดทุนทรัพย์ รวมทั้งกองทุนเพื่อพาหนะขนย้ายผู้ป่วยระหว่างตึกรองรับช่วงหน้าฝน ตลอดจนบูรณะตึกผู้ป่วยในที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02- 4416100 ต่อ58108 ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าว
- 264 views