เอฟทีเอว็อทช์ ส่งจดหมายถึงทูตอียู ขอความชัดเจนในจุดยืนที่อ้างว่าเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับมีความพยายามเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับฝ่ายไทย ในขณะที่สถานการณ์ในไทยอยู่ในช่วงหลังรัฐประหาร สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนถูกจำกัด

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า ทางเอฟทีเอ ว็อทช์ได้ทำหนังสือถึงนายเฆซูส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนในหลักการการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติจริงของสหภาพยุโรปต่อประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเน้นย้ำและเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน และเน้นย้ำว่า อียูจะสนับสนุนไทยต่อไป ก็ต่อเมื่อไทยมีการเลือกตั้งและการคืนการปกครองสู่ระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด แต่ขณะนี้พบว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับฝ่ายไทย ทั้งที่ สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนยังเป็นไปอย่างจำกัด

“เราถามสหภาพยุโรปว่า การที่สหภาพยุโรปเน้นย้ำอย่างหนักแน่นให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนนั้น มีความครอบคลุมถึงหลักการความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยอย่างมีความหมาย อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ขณะที่สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการตรวจสอบรัฐบาลโดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกจำกัดและลิดรอน รัฐธรรมนูญที่เคยรองรับสิทธิต่างๆถูกระงับชั่วคราว เหตุใดคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงกำลังพิจารณาที่จะเดินหน้าการเจรจารอบต่อไป กับคณะผู้เจรจาของไทยภายใต้การบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แม้จะอ้างว่า จะไม่ยอมลงนามกับรัฐบาลทหารก็ตาม นี่ถือเป็นความหน้าไหว้หลังหลอกของสหภาพยุโรปหรือไม่ ทางอียูต้องอธิบาย”

ทั้งนี้ ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและภาคีเครือข่าย เรียกร้องให้สหภาพยุโรปแสดงความชัดเจนที่จะยึดมั่นในหลักการการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน และการลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกัน โดยหยุดฉวยโอกาสเจรจาความตกลงฯกับไทย ในขณะที่ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในประเทศไทยยังมีอย่างจำกัด กลไกต่างๆ ที่เคยมีในการแสดงความเห็นสาธารณะและการตรวจสอบการเจรจาถูกระงับไป ขณะนี้เหลือเพียงภาคธุรกิจเท่านั้น ที่เข้าไปกำหนดทิศทางการเจรจากับรัฐไทย  

เนื้อหาของจดหมาย 

เรียน 

นายเฆซูส มิเกล ซันส์ 
เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

เราคือกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายภาคีที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาคประสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในประเทศไทย ที่ทำงานเกี่ยวกับการสาธารณสุข การเข้าถึงยาและทรัพย์สินทางปัญญา เกษตรกรรมแบบยั่งยืน และการคุ้มครองผู้บริโภค

จากเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 สหภาพยุโรปได้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพของสื่อสารมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน และเน้นย้ำว่า อียูจะสนับสนุนไทยต่อไป ก็ต่อเมื่อไทยมีการเลือกตั้งและการคืนการปกครองสู่ระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในหลักการและการปฏิบัติจริง เราขอคำชี้แจงจากสหภาพยุโรปดังต่อไปนี้

1.การที่สหภาพยุโรปเน้นย้ำอย่างหนักแน่นให้รัฐบาลทหารของไทยเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนนั้น มีความครอบคลุมถึงหลักการความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยอย่างมีความหมาย อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

2.ก่อนหน้าการรัฐประหาร ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหนดนโยบาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการตรวจสอบรัฐบาลโดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกจำกัดและลิดรอน รัฐธรรมนูญที่เคยรองรับสิทธิต่างๆถูกระงับชั่วคราว นี่เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการที่สหภาพยุโรปยึดถือข้างต้นหรือไม่ อย่างไร

3.หากถือเป็นความชัดเจนเพียงพอที่สหภาพยุโรปได้ประกาศต่อสาธารณะไปแล้วว่า จะไม่ลงนามความตกลงการค้าเสรีใดๆกับรัฐบาลทหารของไทยจนกว่าไทยจะมีการเลือกตั้งและการคืนการปกครองสู่ระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด เหตุใดคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงกำลังพิจารณาที่จะเดินหน้าการเจรจารอบต่อไป รวมถึงการประชุมระหว่างรอบหรือการประชุมที่ไม่เป็นทางการต่างๆ กับคณะผู้เจรจาของไทยภายใต้การบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร นี่เป็นความหน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่ โปรดอธิบาย

ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและภาคีเครือข่าย ขอเรียกร้องให้สหภาพยุโรปแสดงความชัดเจนที่จะยึดมั่นในหลักการการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน และการลงมือปฏิบัติให้สอดคล้องกัน โดยหยุดฉวยโอกาสเจรจาความตกลงฯกับไทย ในขณะที่ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในประเทศไทยยังมีอย่างจำกัด กลไกต่างๆ ที่เคยมีในการแสดงความเห็นสาธารณะและการตรวจสอบการเจรจาถูกระงับไป ขณะนี้เหลือเพียงภาคธุรกิจเท่านั้น ที่เข้าไปกำหนดทิศทางการเจรจากับรัฐไทย  

เราเชื่อว่า สหภาพยุโรปจะไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางการค้า จนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ทำลายหลักการความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการเจรจาการค้าเสรีที่เป็นธรรมที่จะมีผลต่อชีวิตของคนไทยและสังคมไทยในระยะยาว

ขอแสดงความนับถือ

 ผศ.สำลี ใจดี 

ประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

เอกสารประกอบ