สถิติผู้ป่วยไส้ติ่งแตกเพิ่มสูงขึ้น เหตุรพช.ผวาไม่กล้าผ่า แนะสธ.ปรับระบบ หลังพยายามกระจายคนไข้ไส้ติ่งให้รพช.ผ่าได้ เหตุแพทย์ยังขาดความมั่นใจ ชี้สธ.ควรสร้างรพช.ต้นแบบพร้อมประเมินผลงานและความพอใจ ก่อนขยายทั่วประเทศ ด้านผอ.รพ.เชียงรายเผยร่วมมือกับรพ.แม่จัน
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์
9 มิ.ย.57 นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพและลดปัญหาการรอคิวการผ่าตัดในผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคไส้ติ่งอักเสบที่มีการผ่าตัดมากในโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)จนเกิดปัญหาผู้ป่วยบางรายไส้ติ่งทะลุ โดยต้องการกระจายให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ทำการผ่าตัดเพื่อลดปัญหาดังกล่าว จริงๆเรื่องนี้เดิมทีรพช.เคยทำมาก่อน กระทั่งเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นก็มีการกระจายไปยังรพ.ขนาดใหญ่ แต่มาเกิดปัญหาแพทย์ในรพช.ไม่ยอมผ่าตัด เพราะกรณีแพทย์ผ่าตัดไส้ติ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้แพทย์ในรพช.หวาดกลัว ทั้งๆที่อาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการดมยา หรือจากปัจจัยอื่น กลายเป็นว่าเมื่อมีเคสผ่าตัดไส้ติ่ง จะส่งต่อไปยังรพศ.รพท.กันหมด
“นโยบายให้รพช.ผ่าตัดไส้ติ่งได้ เพื่อลดปัญหาการรอคิวในรพ.ขนาดใหญ่ถือว่าดี แต่ปัญหาคือ สธ.มอบนโยบายลงมา แต่ไม่มีการถามผู้ปฏิบัติอย่างแพทย์ในรพช.ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วการให้แพทย์ในรพช.ผ่าตัดย่อมทำได้ แต่ปัญหาคือความมั่นใจของแพทย์ไม่มี ขณะที่ประชาชนก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในแพทย์รพ.ขนาดเล็ก ตรงนี้เป็นโจทย์ที่สธ.จะต้องเล็งเห็นความสำคัญด้วย อย่างกรณีให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในรพ.ขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงให้แพทย์ในรพช. ก็ถือว่าดี แต่ส่วนใหญ่จะมาเป็นพี่เลี้ยงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำการผ่าตัดในเคสไม่เร่งด่วน เช่น ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน แต่ผ่าตัดไส้ติ่ง ส่วนใหญ่มาเลย หากรอก็เสี่ยงไส้ติ่งทะลุ” นพ.บัลลังก์ กล่าว และว่า แต่การมีแพทย์พี่เลี้ยงย่อมดี เพียงแต่ว่าอยากให้ตอบโจทย์เรื่องสร้างความมั่นใจให้แพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้วย ที่สำคัญเรื่องนี้อยากให้นำร่องในรพช.บางแห่งก่อนขยายทั่วประเทศ จากนั้นจึงค่อยประเมินความพอใจในประชาชน และการทำงานต่างๆเป็นต้น
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ในการสร้างความมั่นใจในบุคลากรสาธารณสุขมีการดำเนินการตามแผนงาน ซึ่งหากแพทย์ไม่มั่นใจในการทำงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นไปด้วย ซึ่งสธ.มีแผนในการทำงานโดยการทำเป็นขั้นตอน คือ การสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ให้มีความพร้อม ด้วยการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เริ่มต้นลงพื้นที่ไปรพช.เพื่อช่วยการผ่าตัด จากนั้นเมื่อแพทย์ในรพช.มีความพร้อม ทางแพทย์พี่เลี้ยงก็จะกลายเป็นที่ปรึกษา คอยให้ข้อมูล แนะนำผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทางไลน์ ทางวีดีโอคอนเฟอร์เร็นซ์ ซึ่งที่ผ่านมาหลายแห่งก็มีการดำเนินการ ทั้งจ.อุบลราชธานี จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย เป็นต้น
นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย กล่าวว่า รพ. ได้ร่วมกับรพ.แม่จัน ในการพัฒนาเครือข่ายรพช. เพื่อร่วมกันทำงานให้บริการผู้ป่วยอย่างทั่วถึง และลดปัญหาการรอคิว โดยเฉพาะการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากหากมาส่งต่อรวมอยู่ที่รพ.ขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว จะทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน เนื่องจากรพ.จะต้องผ่าตัดเคสฉุกเฉินก่อน อย่างผู้ป่วยไส้ติ่งบางรายยังไม่มีอาการมาก แพทย์ก็ยังไม่ผ่าตัด ทำให้ต้องรอคิว แต่พอมีอาการ หากผ่าตัดไม่ทันก็อาจไส้ติ่งทะลุ ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาโรงพยาบาลในเครือข่ายก็จะลดปัญหาตรงนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ก็เตรียมจะดำเนินการกับรพช.อื่นๆด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ปัญหาไส้ติ่งอักเสบปีงบประมาณ 2548-2556 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า อัตราการเกิดไส้ติ่งทะลุหรือไส้ติ่งแตกในผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2554 อยู่ที่ 19.09 คน ต่อผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ 100 คนที่รับไว้รักษาในรพ. ขึ้นไปที่ 21.44 คน ต่อผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ 100 คน ในปี 2555 และในปี 2556 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 34.81 คน ต่อผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ 100 คน
ขณะที่ อัตราการป่วยตายจากโรคไส้ติ่งอักเสบก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2548 พบร้อยละ 0.16 ในผู้ป่วยโรคไส้ติ่ง 100 คน กระทั่งปี 2555 ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.15 และปี2556 เพิ่มถึงร้อยละ 0.22
- 411 views