"การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ว่ารูปแบบใด จะเน้นประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ที่สำคัญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความโปร่งใส" ถ้อยคำนี้ ณรงค์ พิพัฒนาศัย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังรายงานภารกิจของกระทรวงต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
น่ายินดี...หากการเดินหน้านโยบายสุขภาพในยุค คสช.จะทำให้ได้ระบบบริการที่ตรงกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น เพราะขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่ให้บริการประชาชนกระจายอยู่กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่แปลกที่ขณะนี้ตัวแทนจากภาคประชาชนต่างๆ ได้ออกมายื่นข้อเสนอปฏิรูป สธ.ต่อปลัด สธ.กันยกใหญ่ อย่างเช่น
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ที่บอกว่า เห็นด้วยกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ แต่อยากให้ปลัด สธ.เปิดโอกาสอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ โดยเฉพาะกรณีที่ สธ.แบ่งเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 เขต โดยแต่ละเขตพื้นที่จะครอบคลุม 4-8 จังหวัด ดูแลประชากร 4-5 ล้านคน เพื่อให้การบริหารเป็นระบบนั้น กรณีนี้ต้องมีภาคประชาชนเข้าร่วมการบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการ เนื่องจากจะได้สะท้อนปัญหา และร่วมหาแนวทางบริหารจัดการให้ถูกจุด ยกตัวอย่าง เขตบริการสุขภาพหนึ่ง มีปัญหาในเรื่องผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ก็ต้องมีการรณรงค์ในการป้องกันโดยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการวางแนวทางที่ชัดเจน มีแต่วางกรอบว่าจะต้องตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยงให้ได้ 4-5 แสนคน แต่ความเป็นจริงมีผู้มาตรวจเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น
"หากมีการจัดเขตบริการสุขภาพที่มีภาคประชาชนเข้าร่วมก็จะเสนอปัญหา และร่วมกันทำเป็นตัวชี้วัด เช่น เขตบริการสุขภาพนี้ต้องให้บริการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชไอวีในการป้องกันโรคให้ได้ร้อยละ 80 ภายในกี่ปี ก็กำหนดไป หากทำได้ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในแง่ของประชาชนได้รับประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีการหาเชื้อไวรัสเอชไอวีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคเท่านั้น แต่ยังใช้ในแง่ของการป้องกันโรคอื่นๆ ซึ่งในอนาคตจะทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีปัญหาโรคอะไร เพื่อหาทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป" นิมิตร์กล่าว และว่า การที่ สธ.เล็งเห็นความสำคัญของแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องดี ถือว่าเดินถูกทางในเรื่องการขายบัตรสุขภาพต่างด้าว เพราะเป็นการดูแลสุขภาพ ป้องกันการแพร่กระจายของโรค แต่ปัญหาคือ การขายบัตรสุขภาพที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง การบริหารจัดการยังทำกันเอง ไม่เป็นระบบ แต่หากมีการจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ให้ส่วนกลางดูแล และให้เขตบริการสุขภาพเป็นสาขาให้บริการนั้น จะทำให้เป็นระบบมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เสนอว่า แนวคิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมถือเป็นแนวคิดที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.การมีส่วนร่วมในนโยบาย เช่น กรณีการจัดเขตบริการสุขภาพที่ สธ.แบ่งกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการออกเป็น 12 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะต้องมีกรรมการบริหาร จึงอยากเสนอให้มีการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกรรมการดังกล่าวในสัดส่วนที่เหมาะสม และตัวแทนภาคประชาชนต้องไม่ใช่แค่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เท่านั้น เนื่องจาก อสม.ทำงานกับ สธ.มานาน ก็เหมือนเป็นบุคลากรในสังกัด ที่สำคัญการทำงานต้องชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน โดยต้องจัดเขตบริการสุขภาพให้ตรงกัน เนื่องจากเดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการจัดเขตพื้นที่ในการทำงานต่างๆ เป็น 13 พื้นที่ มีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) ซึ่งเป็นสาขาพื้นที่คอยทำงานในเรื่องการจัดบริการประชาชน ทำงานด้านงบส่งเสริมป้องกันโรค รวมไปถึงรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ขณะที่ล่าสุด สธ.ก็มีการแบ่งเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 เขตพื้นที่ ไม่รวมกรุงเทพมหานคร
"ตรงนี้ทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำให้แต่ละเขตตรงกัน เพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกันได้ เข้าใจว่า ขณะนี้มีการดำเนินการอยู่" สุรีรัตน์กล่าว และว่า จากนั้นต้องแบ่งการทำงานให้ชัดเจน โดยแต่ละเขตบริการสุขภาพจะต้องมีคณะกรรมการบริหาร 2 ชุด คือ กรรมการว่าด้วยการจัดหาบริการให้ประชาชน ให้ สปสช.เป็นเลขานุการ และกรรมการว่าด้วยระบบบริการ หรือผู้ให้บริการ ควรให้ สธ.เป็นเลขานุการ แต่ทั้งหมดต้องบริหารงานภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมกัน 2.การมีส่วนร่วมจัดบริการให้ประชาชน กล่าวคือ เมื่อ สธ.เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค การจะให้โรงพยาบาลในสังกัดทำงานด้านนี้ฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องดึงเครือข่ายภาคประชาชนเข้ามาช่วยผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เป็นต้น
ทางด้าน สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฝากในเรื่องการคัดเลือกภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ขอให้เป็นภาคประชาชนที่ครอบคลุมแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างในเรื่องปัญหาสุขภาพ วิถีชีวิต ซึ่งการจะคัดเลือกเข้ามาในคณะกรรมการใดก็ตามจะต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมและหลากหลายด้วย
ส่วน ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เสนอว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต้องทำให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกรณีที่ สธ.ประกาศจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข หรือระบบสุขภาพใดก็ตาม ถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องมีผลกับประชาชนไม่ว่าด้านใดก็ตาม แต่ภาคประชาชนหลายคนก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมแท้จริง สธ.ควรเปิดเวทีและระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน และควรให้ความรู้ความเข้าใจถึงการแบ่งเขตสุขภาพว่าจะเกิดผลลัพธ์กับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ เสนอให้ปลัด สธ.ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ครอบคลุม ผู้ป่วยทุกกองทุน ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และหากต้องการให้เกิดการปฏิรูปแท้จริง ผู้บริหาร สธ.ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
จากนี้...คงต้องจับตาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน!
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : warunee11@yahoo.com
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 มิถุนายน 2557
- 7 views