มติชน -จากการประชุมเพื่อนำเสนอนโยบายด้านสังคมต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทั่ง พล.ร.อ.ณรงค์เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อมอบนโยบายด้านสุขภาพ
ประเด็นหนึ่งที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ถูกจับตามองคือ ในยุค คสช. นโยบายสาธารณสุขจะออกมาในรูปแบบใด เพราะจากบรรยากาศการเดินทางมาของ พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อเข้ามอบนโยบายแก่ผู้บริหาร สธ. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะโครงการร่วมใจสมานฉันท์ที่ นพ.ณรงค์นำเสนอได้สอดคล้องกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่ คสช.จัดตั้งขึ้น
"มติชน" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ภายหลังเข้าหารือกับ คสช. ถึงการทำงานของกระทรวงยุคนี้
*คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายงานใดเป็นพิเศษ
ท่าน ผบ.ทร.ได้ให้คำแนะนำมาตลอด ทั้งในเรื่องการให้บริการต่อประชาชนที่จะต้องมีคุณภาพและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และยังให้คำแนะนำให้ดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาพยาบาล
*หลังประชุมร่วม คสช.แล้ว สธ.จะขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเรื่องใดเป็นอันดับแรก
มี 4 เรื่องคือ 1.การปรับระบบบริการ 2.เรื่องกำลังคน 3.ระบบธรรมาภิบาล และ 4.การสร้างความสมานฉันท์ โดย 1.การปรับระบบบริการ จะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มวัย พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้นบนการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และจัดระบบบริการโดยไม่ยินยอมให้ใช้เวลาราชการในการปฏิบัติธุรกิจส่วนตัว รวมทั้งจะต้องขยายเวลาบริการที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง 2.กำลังคน จะเน้นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร สาธารณสุข ทั้งจัดสรรตำแหน่ง ปรับระบบค่าตอบแทน 3.ธรรมาภิบาล จะมีการสร้างกลไกออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่เข้มงวดขึ้น โดยจะออกเป็นระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดซื้อยา การบริหารเวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา รวมทั้งจะออกระเบียบเรื่องเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการขายและการจัดซื้อยา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในระบบสาธารณสุข และ 4.การสร้างความสมานฉันท์
*เรื่องกำลังคนในประเด็นการบรรจุข้าราชการยังคงค้างอยู่อีก 15,000 อัตรา จะดำเนินการอย่างไร
เรื่องนี้มาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 จัดสรรตำแหน่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 22,641 อัตรา ระหว่างปี 2556-2558 ซึ่งแบ่งเป็น 3 ล็อต ล็อตละประมาณ 7,547 อัตรา ซึ่งได้รับอนุมัติไปล็อตแรก แต่ยังเหลืออีก 2 ล็อต เนื่องจากติดวิกฤตการเมือง ทำให้เรื่องยังค้าง ขณะนี้ได้เสนอ คสช.เรียบร้อยแล้ว โดย คสช.รับเรื่องแล้ว คาดว่าจะมีการดำเนินการเร็วๆ นี้
*ในเรื่องกำลังคน เห็นว่าก่อนหน้านี้จะมีการเสนอออกนอก ก.พ. เพื่อการดูแลบุคลากร สธ.กันเอง
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับที่ต้องมาดู ซึ่ง อันนี้ก็อยู่ในการพิจารณาผลการศึกษาจากหลายแหล่ง แต่เบื้องต้นก็มีร่าง พ.ร.บ.พระบรมราชชนก พ.ศ... อยู่ ซึ่ง ยังต้องพิจารณาในรายละเอียด
*ในการสร้างขวัญและกำลังใจกำลังคนนั้น ยังมี ประเด็นข้อร้องเรียนค่าตอบแทนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือ พกส. ที่ต้องการเงินเพิ่มขึ้น
เรามีกรรมการบริหาร พกส.อยู่แล้ว จริงๆ ทุกคนเข้าใจข้อเท็จจริง เข้าใจหลายๆ เรื่อง อย่างการยกระดับลูกจ้างชั่วคราวเป็น พกส. หาก พกส.มีจำนวนมาก เงินค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายก็ต้องมากตามจำนวนคน แต่หากไม่มีเงิน ก็ต้องบริหารอย่างสมดุล โดยเงินให้จำนวนที่เหมาะสมกับจำนวนคนที่มี ซึ่งในคณะกรรมการมีการพูดคุยกันอยู่ ทั้งหมดทั้งปวง เราต้องทำเพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายอยู่ได้อย่างมีความสุข
*ในเรื่องการสร้างธรรมาภิบาล หรือความสมานฉันท์นั้น กังวลหรือไม่ว่า ในกลุ่มบุคลากรที่เห็นต่างจะไม่เห็นด้วย และจะเกิดปัญหาความขัดแย้งอีก
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เพื่อประชาชน และเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์มีจริยธรรม มีจิตบริการอยู่แล้ว หากเราเติมการบริหารจัดการ เป็นนโยบายที่ คสช.ให้มา ก็จะทำให้เคลื่อนไปได้ จึงไม่คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งได้
*นอกจากนโยบายเร่งด่วนจะมีการปฏิรูป สธ. ขับเคลื่อนเรื่องการจัดเขตบริการสุขภาพ 12 พื้นที่หรือไม่
มี และดำเนินการมาตลอด โดย 12 เขต โดยแต่ละเขตพื้นที่จะครอบคลุม 4-8 จังหวัดดูแลประชากร 4-5 ล้านคน โดยการบริหารก็เพื่อให้เกิดการบริการอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดสรรและกระจายทรัพยากรสุขภาพให้เกิดความทั่วถึงและเป็นธรรม
*การจัดเขตบริการสุขภาพจะเกิดผลลัพธ์ต่อประชาชนอย่างไร
การบริการจะดีขึ้น เห็นได้จากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ยกตัวอย่าง รพ.บางกล่ำ จ.สงขลา สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กายภาพได้ แก้ปัญหาเดิมที่ผู้ป่วยที่รักษา รพ.หาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องทำกายภาพ แต่ไม่มีเตียง ต้องกลับบ้านนั้น ก็ไม่ต้องมารอคิวอีก สามารถทำกายภาพได้ที่ รพ.บางกล่ำได้เลย โดยทั้งหมดเน้นประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่างการจัดเขตบริการสุขภาพ มีแนวคิดว่าจะเสนอให้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งมีกรรมการบริหารต้องมีประชาชนร่วมด้วย เพื่อให้มารับรู้การเงินการคลัง เราวางไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ทำอะไรประชาชนต้องรู้ ชาวบ้านต้องรับรู้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
*อนาคตโรงพยาบาลต่างๆ จะเหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่เป็นองค์การมหาชนหรือไม่
ยังไม่คิดขนาดนั้น อย่างน้อยทำอะไรต้องคิดเป็นเขตบริการสุขภาพ หากจะออกนอกระบบต้องออกเป็นเขตบริการสุขภาพ อย่าออกเพียงโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ
*นอกจากเรื่องเขตบริการสุขภาพแล้ว เห็นว่า สธ.จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลสุขภาพระดับชาติด้วย
เรื่องนี้เราก็ให้ความสำคัญ เนื่องจากเรามีหน่วยงานด้านสุขภาพค่อนข้างมาก แต่ละหน่วยงานก็มีทิศทางของตน ซึ่งตรงนี้จะต้องมาคุยเรื่องทิศทาง และการทำงานสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง
*นอกจากการทำงานต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องเร่งด่วนในการการสร้างความสมานฉันท์ การปรองดอง
ได้นำเสนอรายละเอียดเรื่องนี้แก่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. โดยได้เสนอการสร้างความสมานฉันท์ ด้วยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งการบาดเจ็บ หรือเครือญาติได้รับผลกระทบ โดยต้องได้รับการดูแลทุกมิติ 2.ผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมือง และ 3.กลุ่มประชาชนทั่วไป ในกลุ่มคิดเห็นขัดแย้งนั้น ศูนย์สมานฉันท์ปรองดองระดับจังหวัดน่าจะเป็นกลไกสำคัญ โดยเราก็จะไปช่วยเสริมในเรื่องวิธีการ กำลังคน โดยเราจะวิเคราะห์พื้นที่ ดูกลุ่มเสี่ยงต่างๆ มีการสร้างเวทีรับฟังอย่างจริงใจ และแลกเปลี่ยนกันโดยใช้เทคนิคทางสังคมจิตวิทยา ขณะที่สื่อก็ต้องช่วยกันเสนอความเห็นรอบด้าน ไม่ใช่สื่อด้านเดียว ส่วนประชาชนทั่วไป คงสื่อให้เห็นถึงความหวัง ให้เห็นประเทศก้าวหน้าต่อไป โดยจะต้องปฏิรูปควบคู่กันไป เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมทั้งหลาย ส่วนจะมีการลงพื้นที่ไปดำเนินการสร้างความสมานฉันท์อย่างไร เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย ทาง สธ.เป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
*การเสนอโครงการร่วมใจสมานฉันท์ จัดเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของ สธ.หรือไม่
เรียกว่าเป็นนโยบายระดับชาติ เพียงแต่กระทรวงมีบุคลากร มีเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปช่วย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสังคมจิตวิทยา
*แสดงว่ากลไกในการสร้างความสมานฉันท์ ในชาติ จะต้องใช้จิตวิทยา
เป็นการใช้สังคมจิตวิทยา ซึ่งต้องมีหลายหน่วยงานร่วมกัน และต้องทำร่วมกับหลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องจิตวิทยา แต่ยังมีเรื่องสังคม โดยต้องปฏิรูประบบต่างๆ ทั้งระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ให้เปิดรับความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด โดยจะอาศัยหลายฝ่าย ทั้ง สธ. ซึ่งมีบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งจากโรงพยาบาลชุมชน หรือศูนย์จิตเวชประจำจังหวัด ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ส่วนรูปแบบขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ไม่ใช่ สธ.เป็นผู้กำหนด ส่วนจะเป็นพื้นที่ไหนเป็นคนดำเนินการก่อนนั้น คงต้องประเมินภาพรวม เพราะปัญหามีทุกที่
*แล้วการปรองดองในกระทรวงสาธารณสุข จะมีการสลายสีเสื้อในกระทรวงอย่างไร
สธ.มีแต่สีขาว ไม่มีสีอื่น แต่หากความคิดต่างก็ไม่เป็นไร แต่ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ อย่ามีความขัดแย้ง ทำงานร่วมกันได้ก็จบ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ระบบงานเดินไปได้ ใครจะสีไหน แต่ขึ้นเวรด้วยกัน ดูแลคนไข้เหมือนกัน มีความเป็นมืออาชีพก็เพียงพอ
*กังวลหรือไม่ว่านโยบายปฏิรูป สธ.จะก่อศึกภายใน เป็นความขัดแย้งระลอกใหม่
ศึกนอกศึกในไม่มีหรอก ผมไม่รู้ ผมรู้แค่ต้องดูแลทุกวิชาชีพ สธ.มี 20 กว่าวิชาชีพ มีประชาชนต้องดูแล สิ่งสำคัญต้องถามว่า ทำแล้วประชาชนได้อะไรกลับคืน อันนี้คือจุดสำคัญที่ขาดไม่ได้
สุดท้ายปลัด สธ.ทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า งานสุขภาพยังมีอีกเยอะ แต่ทั้งหมดเน้นประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 2 มิ.ย. 2557
- 3 views